"ทีดีอาร์ไอ"ผ่าต้นทุนนโยบายหาเสียง จวกละเลยความเสี่ยง - แหล่งเงิน

02 พ.ค. 2566 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ค. 2566 | 04:07 น.

"ทีดีอาร์ไอ" วิพากษ์นโยบายพรรคการเมือง พบ 4 พรรคใช้งบเกิน 1 ล้านล้าน แต่แจงไม่ครบ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ละเลยความเสี่ยง - แหล่งที่มาของเงิน เตือนระวังการสร้างภาระคลังเพิ่ม ไม่ควรกระตุ้นศก.เกินศักยภาพ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์เอกสารที่พรรคการเมือง ชี้แจงนโยบายหาเสียง ต่อ กกต. ก่อนเผยแพร่บทความ "ข้อสังเกตเรื่องต้นทุนทางการเงินของนโยบายและที่มาของเงิน" พบว่า พรรคที่ใช้งบประมาณมากที่สุด ได้แก่

  • พรรคภูมิใจไทย วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
  • พรรคเพื่อไทย 1.8 ล้านล้านบาท
  • พรรคก้าวไกล 1.3 ล้านล้านบาท 
  • พรรคพลังประชารัฐ  1 ล้านล้านบาท

4 พรรค ใช้งบฯหลักเกิน 1 ล้านล้านบาท

ทีดีอาร์ไอ ตั้งข้อสังเกตนโยบายหาเสียง ต่อการใช้งบประมาณ 5 ประเด็น ได้แก่

1. พรรคการเมืองบางส่วนประชาสัมพันธ์นโยบายหาเสียงแต่ไม่ชี้แจงหรือปรากฏในรายงานที่นำเสนอต่อ กกต. ทั้งที่ เป็นนโยบายที่สร้างภาระทางคลังสูง จึงเป็นการให้ข้อมูลต่อประชาชนอย่างไม่ครบถ้วน

2. พรรคการเมืองหลายพรรคอ้างว่า นโยบายหาเสียงที่ประกาศไว้จะใช้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในปัจจุบัน แต่กลับไม่ระบุว่าตัดลดงบประมาณส่วนใด ทำให้ ประชาชน ไม่เห็นผลกระทบอย่างรอบด้าน ว่าอาจสูญเสียอะไรไปบ้าง เช่นเดียวกับ พรรคการเมือง อ้างว่าจะได้แหล่งรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น แต่ไม่ระบุว่า ภาษีรายการใด

3. พรรคการเมือง ทุกพรรค นำเสนอแหล่งที่มาของเงินในแต่ละนโยบาย แต่ไม่ได้แสดงถึงภาพรวมของความเพียงพอ ของแหล่งเงิน และบางพรรค อาจมีลักษณะนับซ้ำแหล่งเงิน อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า มีงบประมาณเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายหาเสียง

4. พรรคการเมืองบางส่วน นำเสนอว่า จะใช้แหล่งเงิน นอกงบประมาณ เช่น กองทุนต่างๆ หรือ งดการจัดเก็บภาษี เพื่อทำให้เข้าใจว่า ไม่สร้างภาระทางการคลัง ทั้งที่ การใช้เงิน ของรัฐวิสาหกิจ หรือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ก่อให้เกิดภาระทางการคลังได้เช่นกัน

 

5. พรรคการเมืองส่วนใหญ่ นำเสนอเพียงประโยชน์ของนโยบาย แต่ละเลยการแจ้งถึง ผลกระทบ และความเสี่ยง หากดำเนินนโยบายเหล่านั้น ทั้งที่ เป็นนโยบายที่ใช้เงินจำนวนมาก อีกทั้ง ยังต้องแก้ไขกฎหมาย และมีรายละเอียดในทางปฏิบัติ

ทีดีอาร์ไอ ยังพบว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดเลยที่วิเคราะห์ความคุ้มค่าของนโยบายหาเสียงดีกว่านโยบายที่ใช้ในปัจจุบันอย่างไร พร้อมกับ วิพากษ์นโยบายพรรคการเมืองที่ใช้งบประมาณสูง ๆ 4 พรรค

ดังนี้ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคที่นโยบายหาเสียงใช้งบประมาณสูงที่สุด 1.9 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการใช้เงินนอกงบประมาณ สูงกว่าปีละ 7 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการเงินกู้ฉุกเฉิน แต่ไม่ได้ระบุหลักทรัพย์ประกัน

อีกทั้งนโยบายหาเสียงหลายนโยบาย ไม่ได้ชี้แจงลายละเอียดในรายงานที่นำเสนอต่อ กกต. เช่น พักหนี้ 3 ปี นโยบายประกันความเสียหายเกษตรกร นโยบายแยรังสีรักษามะเร็ง นโยบายลดค่ารถเมล์ 10-40 บาท และนโยบายฟรีโซลาร์เซลล์ ผ่อนมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าเดือนละ 100 บาท

ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ทีดีอาร์ไอ ให้ความสำคัญต่อนโยบายแจกเงินดิจิทัล คนละ 10,000 บาท โดยอ้างแหล่งเงิน จากรายรับภาษีที่จะเพิ่มขึ้น การจัดเก็บภาษีอื่น ๆ การบริหารจัดการงบประมาณ และบริหารงบฯสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน แต่ไม่ได้ระบุว่าจะปรับลดงบฯ สวัสดิการด้านใด เพื่อมาแจกเงินดิจิทัล

นอกจากนี้ ยังมองว่า รายได้รัฐและการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายดังกล่าวเป็นการประเมินเศรษฐกิจ และผลจากนโยบายดีเกินจริง โดยไม่มีหลักฐานหรือข้ออ้างอิงไปถึงผลลัพธ์ที่พรรคคาดไว้ และยังขาดการประเมินความเสี่ยงกรณีการจัดเก็บภาษีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะกระทบอย่างไร

เช่นเดียวกับ นโยบายหาเสียง 44 จาก 70 นโยบาย ล้วนใช้เงินกว่ากว่ากรอบงบประมาณปกติ ซึ่งขัดแย้งกับ ที่พรรคนำเสนอต่อ กกต. ที่อ้างว่า สามารถบริหารได้จากงบประมาณปกติ

ส่วนพรรคก้าวไกล ทีดีอาร์ไอ เห็นว่าพรรคสามารถแจกแจงต้นทุนและแหล่งเงินดำเนินนโยบายหาเสียงได้ชัดเจนกว่าพรรคอื่น ๆ ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2570 และไม่ได้ใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงทางการคลัง

แต่นโยบายปฏิรูปหน่วยงานส่วนกลาง และกองทัพเพื่อลดภาระงบประมาณและนำมาบริหารนโยบายอื่น ๆ อาจถูกต่อต้านอย่างรุนแรง

ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ ที่นำเสนอนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุ เหมือนพรรคก้าวไกล แต่คำนวณวงเงินสูงกว่า

พร้อมตั้งข้อสังเกตนโยบายน้ำมันประชาชนที่อ้างว่าไม่ใช้งบประมาณรัฐแต่ลดราคาน้ำมันจากการยกเว้นภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น กองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์ฯ ไม่เกิน 1 ปี นั้น

ทีดีอาร์ไอ เห็นว่า พรรคกำลังให้ ข้อมูลทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะการดำเนินการดังกล่าวล้วนสร้างภาระทางการคลังในรูปแบบการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ติดลบมากกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท จากการแทรกแซงราคาน้ำมัน

เช่นเดียวกับ นโยบายยกเว้นภาษีผู้มีเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท ต่อปี จะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลัง และควรนำเสนอแหล่งที่มาขอรายได้ ทดแทน หากยกเว้นภาษีรายการดังกล่าว

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ นำเสนอนโยบายหาเสียงที่ใช้เงินนอกงบประมาณ สูงกว่า 4.6 แสนล้านบาท แต่ไม่ระบุว่า แหล่งเงินดังกล่าวมาจากส่วนใดและไม่ระบุความเสี่ยงทางนโยบาย ทั้งที่เงินตั้งต้นกองทุนฯสูงกว่าเงินในกองทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งกองทุนวายุภักษ์ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี และกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์

พรรคไทยสร้างชาติ เป็นพรรคการเมืองที่นำเสนอวงเงินดำเนินนโยบายหาเสียงต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งที่นโยบายหาเสียงส่วนใหญ่ล้วนเพิ่มวงเงินจากนโยบายปัจจุบันทั้งสิ้น เช่น การเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการ คนละะ 1,000 บาท ต้องใช้เงินไม่น้อยกว่าปีละ 1.75 แสนล้านบาท แต่พรรครายงานต่อ กกต. ว่าใช้เงินเพียง 7.1 หมื่นล้านบาท 

ส่วนนโยบายเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุใช้เงิบ 7.7 หมื่นล้านบาทต่อปี เพิ่มเงินสมทบรัฐให้แรงงานในระบบบประกันสังคม 7.8 หมื่นล้านบาท แต่พรรคฯ แจ้งในรายงานกกต.ว่าใช้เงินเพียง 2.9 หมื่นล้านบาท ตลอดจน นโยบายลดต้นทุนเกษตรกร อาจใช้งบฯ 8.3 พันล้านบาท


แนะ กกต.ขอคำอธิบายแหล่งที่มาของเงิน

ทีดีอาร์ไอ จึงนำเสนอรายงานฉบับนี้ เพื่อให้ กกต. ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง ในการกำกับให้พรรคการเมืองให้ข้อมูลประชาชนอย่างครบถ้วนและ กกต. ควรตรวจสอบเบื้องต้นได้ว่า พรรคการเมืองจัดทำรายงานนโยบายหาเสียงครบถ้วนหรือไม่ สมเหตุสมผลหรือไม่ และควรกำหนดให้พรรคการเมืองจัดทำรายละเอียดแหล่งเงินดำเนินนโยบายอย่างเพียงพอ ตลอดจนผลกระทบอย่างครบถ้วนรอบด้าน

นอกจากนี้ ทีดีอาร์ไอยังเสนอให้พรรคการเมืองยกระดับมาตรฐานเอกสารชี้แจงนโยบายที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะแหล่งที่มาของเงิน เพื่อแสดงความเคารพต่อประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และครบถ้วนก่อนลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ขณะที่ พรรครัฐบาลไม่ควรดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป แต่ควรเก็บกระสุนเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในกรณีที่เศรษฐกิจไทย ชะลอตัวจากความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย

และควรระมัดระวังการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากการขาดดุลงบประมาณเพื่อรองรับรายจ่ายจากกองทุนประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าสู้สังคมสูงวัย เพราะการเร่งก่อหนี้สาธารณะเพิ่มจะกระทบการจัดอันดับประเทศและความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ