นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงนโยบายและวิสัยทัศน์ในฐานะแคนดิเดตของนายกรัฐมนตรี ในรายการดีเบตที่มติชนและเดลินิวส์ร่วมกันจัดขึ้น ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566
โดยได้นำเสนอนโยบายและวิสัยทัศน์ ที่ประเทศไทยจะฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้ไปได้ ขณะนี้เราประสบปัญหาภาระหนี้สินของรัฐบาล 60% ของ GDP และภาระหนี้ครัวเรือนอีก 90% ของ GDP ขณะที่งบประมาณด้านลงทุนเหลือเพียง 20% ของงบประมาณ ซึ่งควรจะเป็นอย่างน้อย 35%
และยังมีปัญหาโครงสร้างทางสังคม ที่ประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ เริ่มมีมากขึ้นถึง 12 ล้านคน ที่จะต้องดูแลกัน ขณะเดียวกันโลกก็เกิดวิกฤตเกิดสงครามการค้า เกิดสงครามจริงๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ เกิดการจับขั้วของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจกันใหม่ ก่อให้เกิดผลกระทบด้านการค้าการลงทุนและการย้ายฐานการผลิต แล้วยังเจอปัญหาเรื่องโลกร้อน ที่จะกระทบต่อโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนั้น สถาบันการเงินธนาคารหลายๆ แห่งในต่างประเทศเริ่มมีปัญหา แสดงให้เห็นว่าโลกมีความเสี่ยง ประเทศไทยก็มีความเสี่ยงท่ามกลางความผันผวน
ขณะเดียวกันเราก็มีปัญหาภายในประเทศ ฉะนั้น เราจะต้องจัดการบริหารประเทศด้วยการสร้าง แพลตฟอร์มทางด้านเศรษฐกิจใหม่ พื้นฐานเศรษฐกิจใหม่จะต้องอยู่บนจุดแข็ง อยู่บนความยั่งยืน บนฐานทรัพยากรของเรา บนความเป็นไทย thainess ไม่ยืมมือคนอื่นเพื่อสร้างความยั่งยืน
นายสุวัจน์ กล่าวว่า นโยบาย 4 เรื่องที่เป็นวิสัยทัศน์ที่จะฝ่าวิกฤตประเทศได้คือ
1. เรื่องเศรษฐกิจ ใช้จุดแข็ง 3 เรื่องคือ เกษตร อาหาร ท่องเที่ยว และ soft power สร้างเมืองไทยให้เป็นเมืองอาหารป้อนโลกโดยใช้ผลผลิตการเกษตร ขณะนี้โลกเกิดวิกฤตด้านอาหาร วิกฤตของโลกคือ โอกาสของประเทศไทย
เราจะต้องนำผลผลิตการเกษตรที่เราเป็นมหาอำนาจ ข้าว อ้อย ยาง มันสำปะหลัง ปาล์ม ข้าวโพด และผลไม้ต่างๆ มาแปรรูปให้เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่า เพิ่มผู้ประกอบการในแต่ละขั้นตอน เพิ่มงาน เพิ่มรายได้จากการส่งออก เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร จะเป็นการยกระดับราคาสินค้าการเกษตร
ขณะนี้ภาคแรงงาน 32% มาจากภาคเกษตร แต่สร้างรายได้เพียง 8% ของ GDP ถือว่าต่ำมาก การนำสินค้าเกษตรมาแปรรูปและสร้างเป็นอุตสาหกรรมจะเป็นการสร้างแพลตฟอร์มเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศที่อยู่บนจุดแข็ง เราจะไม่แพ้ใคร
ในส่วนเรื่องของการท่องเที่ยวนั้น ต้องใช้การท่องเที่ยวให้เป็นจุดแข็งในการกระตุ้นการฟื้นฟูและสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ต้องเพิ่มนักท่องเที่ยวให้เป็น 2 เท่าหรือเท่ากับประชากรของประเทศ คนไทย 1 คนต่อนักท่องเที่ยว 1 คน เพิ่มรายได้ของการท่องเที่ยวจาก 40 ล้านคน ที่ทำรายได้ 2 ล้านล้านบาท เป็น 70 ล้านคน สร้างรายได้ 5 ล้านล้านบาท ด้วยการขยายระยะเวลาในการอยู่เมืองไทยและเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อวัน
การท่องเที่ยวจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำการกระจายรายได้ไปทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอาชีพ จะได้ผลประโยชน์ เศรษฐกิจรากหญ้าจะเข้มแข็ง ประเทศเราอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรม จะเป็นการกระจายความเจริญไปยังชนบท
นอกจากนั้น เรายังมีความเข้มแข็งของพลัง Soft Power ที่จะมาเปลี่ยนให้เป็นพลังทางเศรษฐกิจ สนับสนุน platform ใหม่ด้านเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเศรษฐกิจรากหญ้าเข้มแข็ง คนในชนบทเข้มแข็งต่อไปนโยบายประชานิยมก็จะลดน้อยถอยลงไม่เป็นภาระด้านงบประมาณแต่อย่างใด
2.การลดความเหลื่อมล้ำ ต้องสร้างความเสมอภาคและโอกาสในการได้รับผลพวงของการพัฒนา ทุกคนต้องได้รับที่เท่าเทียมกัน ให้กับประชาชนทุกกลุ่มทุกอาชีพทุกพื้นที่ ประชาชนทุกคนต้องได้รับโอกาส โดยการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การศึกษา การสาธารณสุขและการบริการภาครัฐอย่างเท่าเทียม โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมอเตอร์เวย์ระบบขนส่งมวลชนจะต้องกระจายไปทุกจังหวัด
3.นโยบายด้านการต่างประเทศต้องสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศไทยมีบทบาทในเวทีต่างประเทศมากขึ้น เพราะทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ มีการจับขั้วทางเศรษฐกิจใหม่ มีข้อตกลงทางการค้าเกิดขึ้นใหม่ๆ พี่จะต้องใช้บทบาทของเวทีต่างประเทศ มาสร้างความเข้มแข็งไม่ให้ประเทศไทยเสียเปรียบ ให้ไทยรักษาความได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนไว้ได้ ประเทศไทยต้องกลับมามีบทบาทเป็นผู้นำในอาเซียน และมีอาเซียน เป็นภูมิคุ้มกัน ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศ
4.ต้องลดความขัดแย้งทางการเมือง เปรียบเหมือนก้อนกรวดในรองเท้ามาแล้วเกือบ 20 ปี ที่ทำให้การเมืองเดินสะดุด เมื่อการเมืองไม่เข้มแข็งก็กระทบต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ฉะนั้น จะต้องสร้างการเมืองให้เข้าใจกัน มีความร่วมมือกัน ลดความขัดแย้ง ฝ่ายค้านและรัฐบาลสามารถร่วมกันทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ
เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ มีความยืดหยุ่นตัวต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งด้านเศรษฐกิจการลงทุนอย่างรวดเร็ว
จากนโยบายทั้ง 4 ข้อดังกล่าวข้างต้น จึงนำไปสู่การจัดทำนโยบาย “งานดีมีเงินของไม่แพง” และ “โคราชโนมิกส์” เพื่อรองรับนโยบายทั้ง 4 เรื่องดังกล่าว คือ spectrum economy สร้างงานใหม่ 5 ล้านล้านบาท
กองทุนติดตั้งโซล่าเซลล์ 100,000 ล้านบาท, นโยบายเพิ่มนักท่องเที่ยว 2 เท่าสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 5 ล้านล้านบาท,ตั้งกองทุน Soft Power เพื่อสร้างพลังทางเศรษฐกิจ 10,000 ล้านบาท, สร้างมอเตอร์เวย์ทั่วไทยสนับสนุนการลงทุนการท่องเที่ยว และนโยบายโคราชโนมิกส์ ที่สร้างการลงทุนครั้งใหญ่ในระเบียงเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยที่อีสานและโคราช เพื่อเอาเศรษฐกิจยุคทองกลับมา
เมื่อถามว่าถ้าร่วมรัฐบาลพร้อมจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไหน นายสุวัจน์ กล่าวว่า ขอให้เป็นกระทรวงที่สามารถผลักดันนโยบายที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กับพี่น้องประชาชน เราเชื่อมั่นว่านโยบายโคราชโนมิกส์ จะสร้างเศรษฐกิจยุคทองให้กับประเทศไทย ภาคอีสาน และ โคราชอีกครั้งหนึ่ง
“ขณะนี้นโยบายนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากพี่น้องประชาชนชาวโคราช จึงทำให้ผมมั่นใจว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ที่โคราช ชาติพัฒนากล้าจะประสบชัยชนะคัมแบ็คแน่นอน” นายสุวัจน์ ระบุ