สำหรับผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตเอาไว้โดยจะได้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งนี้ เชื่อว่าผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนจำนวนไม่น้อยไม่เคยมีประสบการณ์ในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตมาก่อนอาจเกิดความสงสัยขึ้น
คำถาม : ผู้มีสิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งจะต้องเลือก ส.ส.เขตอย่างไร
คำตอบ : ให้กากบาทใช้สิทธิเลือกผู้สมัคร ส.ส.ตามภูมิลำเนา หรือตามทะเบียนบ้านที่เรามีสิทธิเลือกตั้งอยู่
ตัวอย่างเช่น
นางสาว B มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่แต่มาทำงานและอาศัยอยู่ในเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ซึ่งในวันเลือกตั้ง คือ วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.66 นางสาว B ไม่สามารถกลับบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ โดยนางสาว B ได้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไว้ที่เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร
ดังนั้น ในวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค. 66 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้านั้น นางสาว B ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่เลือกตั้ง ณ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร โดยนางสาว B จะต้องลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ส.ส. ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่นางสาว B มีสิทธิอยู่
ช่องทางตรวจสอบรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.
กรณีหากไม่ทราบว่า ในเขตที่มีสิทธิเลือกตั้งมีใครลงสมัครรับเลือกตั้งบ้างโดยสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้งได้จาก แอพพลิเคชัน Smart Vote (คลิกที่นี่)
นอกจากนี้ในวันเลือกตั้งล่วงหน้าทาง กกต.ก็ได้จัดทำเอกสารรายชื่อของ ส.ส.เขต ในพื้นที่ต่าง ๆ ติดประกาศเอาไว้ให้ ณ ที่เลือกตั้ง เพื่อให้ผู้มีสิทธิตรวจสอบรายละเอียดก่อนเข้าคูหา
บัตร 2 ใบ แบบแบ่งเขต "สีม่วง", บัญชีรายชื่อ "สีเขียว"
สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งจะได้รับบัตรเลือกตั้งสองใบ
1. บัตรสีม่วง
สำหรับเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต ซึ่งจะมีแค่เบอร์ผู้สมัครและช่องให้กากบาทเท่านั้น ไม่มีชื่อผู้สมัครและพรรคการเมืองแต่อย่างใด ดังนั้น จึงควรดูเบอร์ที่ติดอยู่หน้าคูหาเลือกตั้งหรือตรวจสอบหมายเลขที่ถูกต้องและจำไว้ให้ดีเพื่อเวลาเข้าไปกาในคูหาจะได้กากบาทเลือกได้อย่างถูกต้อง
2.บัตรสีเขียว
สำหรับเลือกพรรคการเมืองที่ชื่นชอบซึ่งนอกจากมีเบอร์และช่องให้กากบาทแล้วจะมีโลโก้ และชื่อพรรคการเมืองระบุไว้ซึ่งใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ