วิธีกาบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. ที่ถูกต้อง แบบไหนไม่เป็น "บัตรเสีย"

06 พ.ค. 2566 | 19:37 น.

วิธีกาบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 กกต. แจ้งข้อมูล เขียนแบบนี้ลงไปในบัตรเป็น "บัตรเสีย" แน่นอน ตรวจสอบรายละเอียดวิธีที่ถูกต้อง ในการเข้าคูหาใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมข้อมูลไว้ที่นี่แบบเข้าใจง่าย

เลือกตั้งล่วงหน้า วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ทั้งในเขตเลือกตั้ง และนอกเขตเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ออกมาใช้สิทธิ ณ ที่เลือกตั้งกลาง ที่ได้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. พร้อมระบุ "วิธีกาบัตรเลือกตั้ง" อย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นบัตรเสีย
วิธีกาบัตรเลือกตั้ง ที่ถูกวิธีทำยังไง

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แนะนำข้อมูล “วิธีกาบัตรเลือกตั้ง” อย่างชัดเจน โดยส่วนแรกผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า จะต้องกา เครื่องหมาย X ลงในบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภท คือ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 

 

เลือกตั้ง 2566 บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 

 

เลือกตั้ง 2566 บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

 

ทั้งนี้หากต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด หรือ บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดให้ทำเครื่องหมายกากบาท X ในช่องทำเครื่องหมายเพียงหมายเลขเดียวเท่านั้น

แต่หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ประสงค์ เลือกผู้สมัครผู้ใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดให้ทำเครื่องหมาย กากบาท X ที่ช่องไม่เลือกผู้สมัครใด หรือ ที่ช่องไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด 

ลักษณะของบัตรดี 

สำหรับบัตรเลือกตั้งที่มีการลงคะแนนแล้ว เป็นบัตรดี มีองค์ประกอบดังนี้

  • ต้องมีเครื่องหมายในการลงคะแนน
  • เครื่องหมายต้องเป็นเครื่องหมายกากบาทเท่านั้น
  • เครื่องหมายกากบาทต้องอยู่ในช่องทำเครื่องหมายและต้องมีเครื่องหมายเดียวเท่านั้น
  • โดยลักษณะบัตรที่ดี ต้องเป็นบัตรที่นับเป็นคะแนนของ “ผู้สมัคร” หรือ “พรรคการเมือง”ผ่านการทำเครื่องหมายลงคะแนนเลือกตั้งในช่อง “หมายเลขของผู้สมัคร” หรือ “หมายเลขของบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง” หรือต้องผ่านการทำเครื่องหมายลงคะแนนเลือกตั้งในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” ถือเป็นบัตรดีที่นับคะแนนได้

 

ภาพประกอบข่าว วิธีกาบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า 2566

ลักษณะของบัตรเสีย

สำหรับบัตรเลือกตั้งที่มีการลงคะแนนไม่เป็นไปตามลักษณะบัตรดี และไม่ให้นับเป็นคะแนนเลือกตั้ง มีด้วยกันดังนี้

  • บัตรปลอม
  • บัตรที่มีการทำเครื่องหมาย เพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความลงในบัตร นอกจากเครื่องหมายในการลงคะแนน (เว้นแต่ เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง)
  • บัตรที่ไม่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
  • บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้ผู้สมัคร หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเกินหนึ่งหมายเลข
  • บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือ บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด (เว้นแต่ เป็นการทำเครื่องหมายในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ“ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”)
  • บัตรที่ทำเครื่องหมายอื่นนอกจากเครื่องหมายกากบาท
  • บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครแล้วทำเครื่องหมายในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร
  • บัตรที่ทำเครื่องหมายในช่องไม่มีผู้สมัครหรือผู้สมัคร ที่ถูกถอนชื่อออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร
  • บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้กับผู้สมัครในช่องทำเครื่องหมายเกินกว่าหนึ่งเครื่องหมาย
  • บัตรที่ทำเครื่องหมายนอกช่องทำเครื่องหมาย
  • บัตรที่ไม่ใช่บัตรซึ่งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบให้
  • บัตรเสียตามมาตรา 114 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • บัตรเลือกตั้งที่ไม่ใช่ของเขตเลือกตั้งที่ดำเนินการนับคะแนน

ตัวอย่างของบัตรเสีย

ตัวอย่างของบัตรเสีย ซึ่งมีการแสดงเครื่องหมายไม่ตรงกับข้อกำหนดของกกต. โดยมีการทำสัญลักษณ์อื่น ๆ ในบัตรเลือกตั้ง

ตัวอย่างของบัตรเสีย โดยมีการทำสัญลักษณ์อื่น ๆ ในบัตรเลือกตั้ง 2566

 

 

ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง