กกต.มั่นใจเลือกตั้ง “ไม่โมฆะ” พบผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 91.83%

08 พ.ค. 2566 | 07:06 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2566 | 07:11 น.

“กกต.”เผยมีผู้มาใช้สิทธิ “เลือกตั้งล่วงหน้า” 91.83% "แสวง" ยันจ่าหน้าซองผิด ตรวจสอบได้ สัญญารักษาทุกคะแนนเสียงไม่ให้ตกน้ำ มั่นใจไม่ทำเลือกตั้งโมฆะ

วันนี้ (8 พ.ค.66) ที่สำนักงานไปรษณีย์ สำนักงานใหญ่ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมด้วย นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย นำสื่อมวลชนร่วมติดตามการนับจำนวนและคัดแยกบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ที่ผ่านการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และบัตรลงคะแนนผู้พิการ ผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่ส่งเข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว 

นายดนันท์ กล่าวว่า ในส่วนของบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรมีทยอยเข้ามา กว่า 60,000 ใบ หรือประมาณ 67% จาก 45 ประเทศ จากจำนวนทั้งหมด 67 ประเทศ มีคณะกรรมการ 3 ฝ่ายคือ กรมการกงสุล กกต. และไปรษณีย์ตรวจคัดแยก 

ส่วนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศของทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ถูกขนส่งมายังศูนย์คัดแยกเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างทำการคัดแยกตรวจนับโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วย กกต และไปรษณีย์ ยังไม่ถึงการคัดกรองที่มีเรื่องของการจ่าหน้าซองบัตร 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการคัดแยก ตรวจสอบจะใช้เวลา 7-9 พ.ค. ช้าสุด คือ วันที่ 10 พ.ค.นี้ และเริ่มส่งไปยัง 400 เขต  คาดว่าจะถึงภูมิลำเนาของผู้ใช้สิทธิภายในวันที่ 12 พ.ค.นี้ 

“ยืนยันว่า การดำเนินการในศูนย์คัดแยก จะมีวอร์รูมคอยมอนิเตอร์ดูการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่ กกต. มาร่วมทำงานด้วย สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เข้าพื้นที่ต้องลงทะเบียน ยืนยันตัวตน ห้ามนำอุปกรณ์โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือเข้าไป และเมื่อออกจากศูนย์ จะต้องมีการตรวจค้นก่อน สำหรับขั้นตอนการตรวจนับและคักแยกบัตรเลือกตั้ง จะตรวจรหัสซ้ำ 3 รอบ เพื่อให้แน่ใจว่าบัตรลงคะแนนจะถูกส่งตรงตามที่ผู้ลงคะแนน”

              กกต.มั่นใจเลือกตั้ง “ไม่โมฆะ” พบผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 91.83%

ด้าน นายแสวง กล่าวว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าประมาณ  91.83% ต้องขอบคุณผู้มาใช้สิทธิ ที่มาด้วยแรงศรัทธาประชาธิปไตย สำนักงาน กกต. สัญญาว่าจะรักษาทุกเสียงที่ประชาชนได้ลงคะแนนไว้ 

ส่วนกรรมการประจำหน่วย(กปน.) และอนุกรรมการประจำเขต ซึ่งการทำงานอาจจะมีการผิดพลาดบ้าง แต่ขอบคุณที่อดทนทั้งต่อสภาพอากาศ และแรงเสียดทานทางการเมือง ทำงานรวมกว่า 16 ชั่วโมง รวมถึงประชาชนที่ร่วมกันตรวจสอบการทำงานของ กปน. และ กกต. ซึ่งมีทั้งเรื่องจริง เรื่องเท็จ แต่สั่งให้ผอ.ทุกจังหวัด รายงานเข้ามาทุกเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าว ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร มีการแก้ไขอย่างไร  เป็นเรื่องดี ที่สิ่งที่เราทำอยู่นั้นอยู่ในสายตาของประชาชนเสมอ 

นายแสวง  ยืนยันว่า วันเลือกตั้งที่ 14 พ.ค. จะไม่ให้มีสิ่งผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นอีก คาดว่าเลือกตั้งในวันดังกล่าว การบริหารจัดการจะง่ายกว่านี้ เพราะไม่ต้องส่งไปรษณีย์ และบุคลากรที่จะทำงานมีมากกว่านี้ การลงคะแนนตรงตามหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ ประชาชนจะไม่สับสนเรื่องหีบบัตร 

แต่คิดว่าเรื่องหีบไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญคือ ปัญหาการจ่าหน้าซอง ยืนยันว่าเรามีกระบวนการตรวจสอบ ขอให้ผู้ใช้สิทธิมั่นใจว่า ซองบรรจุบัตรเลือกตั้งจะถูกส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งของผู้ใช้มีสิทธิได้อย่างถูกต้อง

นายแสวง กล่าวต่อถึงกระบวนการตรวจสอบคัดแยกบัตร กรณีกรรมการประจำหน่วยเขียนรหัสจังหวัด หรือเขตเลือกตั้งผิดพลาดว่า หลังปิดหีบจะมีการตรวจสอบว่าต้นขั้วที่ใช้ไป กับจำนวนบัตรที่ออกเสียงตรงกันหรือไม่ และกรรมการประจำหน่วยจะทำบัญชีมา เมื่อไปรษณีย์ได้รับถุงบัตรมาแล้ว ก็จะทำการตรวจเบื้องต้น เมื่อคัดแยกเสร็จก็จะดูว่าจำนวนซองที่คัดแยกกับยอดต้นขั้วตรงกันหรือไม่ ดังนั้นยอดจะกระทบกันโดยอัตโนมัติ 

“ถ้ามีการจ่าหน้าซองถูกต้องทั้ง 3 จุด ก็จะถูกแยกออกไปเลย แต่ถ้ามีปัญหากรอกครบ แต่เขียนเขต หรือรหัสเลือกตั้งผิด จะยึดรหัสเขตเลือกตั้ง 3 ตัวท้าย ซึ่งอยู่ด้านล่างของซองเป็นหลัก  ส่วนกรอกไม่ครบ หรือไม่มีรายละเอียดใดๆ คือไม่มีการกรอกอะไรเลย ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมี แต่ถ้ามีกรณีนี้จะถูกส่งมาให้คณะกรรมการ ที่มีเจ้าหน้าที่ กกต. และไปรษณีย์วินิจฉัยว่าซองนี้จะไปลงเขตใด ซึ่งจะต้องไปสอบทานกับต้นขั้วก่อน ยอมรับว่าอาจจะยุ่งยากพอสมควร” 

เมื่อถามว่ามีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ ส่วนใหญ่พบว่า มีการกรอกรหัส 3 ตัวท้ายผิด นายแสวง ชี้แจงว่า เรื่องการระบุเขตเลือกตั้ง คิดว่าประชาชนทราบ แต่รหัสเขต 3 ตัวท้าย ไม่รู้ว่าประชาชนเข้าใจหรือเปล่า อาจจะเข้าใจว่า กปน.ต้องกรอกรหัสไปรษณีย์ที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ 

“ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของ กปน. แต่การที่เราออกแบบการจ่าหน้าซอง ให้เขียนถึง 3 ชั้น เพื่อที่เวลาเกิดปัญหาก็จะสามารถตรวจสอบได้ และสามารถส่งบัตรเลือกตั้งนั้น ไปยังหน่วยเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิ ดังนั้น แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตการทำงานของกปน. แต่ยืนยันว่าบัตรทุกใบจะไม่เป็นบัตรเสีย ทุกคะแนนเสียงจะไม่ตกน้ำ

เมื่อถามถึงแฮชแท็ก “กกต.มีไว้ทำไม” ที่เกิดขึ้นหลังประชาชนพบความผิดพลาดหลายอย่างในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า นายแสวง กล่าวว่า เป็นความรู้สึกของประชาชนที่มองเราแบบนั้น ซึ่งเราก็รับรู้

เมื่อถามย้ำว่ากังวลหรือไม่ว่าจะมีคนนำความผิดพลาดนี้ไปฟ้องต่อศาลเพื่อให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะ นายแสวง กล่าวว่า ตนคะเนอย่างนั้นไม่ได้ แต่สั่งให้ผอ.จังหวัด ทุกจังหวัดรายงานทุกเหตุการณ์ ทั้งการติดเอกสารผิด เอกสารผิด 

“แต่ยืนยันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ สามารถเดินหน้าการเลือกตั้งต่อไปได้  ซึ่งผมเข้าใจว่าเรื่องนี้ประชาชนมีความกังวล จึงจะประสานกับไปรษณีย์ และมีความคืบหน้าอะไรก็จะแจ้งให้ทราบต่อไป” เลขาฯ กกต. ระบุ