“สามารถ”ลั่น ปชป.พร้อมดันสตูลเชื่อมเปอร์ลิสรับนักท่องเที่ยวมาเลย์

11 พ.ค. 2566 | 05:51 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2566 | 06:12 น.

“ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์” ลั่น ปชป.พร้อมดันสตูลเชื่อมเปอร์ลิส รับนักท่องเที่ยวมาเลย์ เงินสะพัดสตูลนับพันล้านต่อปี

เมื่อคืนวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมขนส่ง ปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัคร ส.ส. สตูล พรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย นายซอบรี หมัดหมัน เขต 1 เบอร์ 3 และนายเกตุชาติ เกษา เขต 2 เบอร์ 1 ท่ามกลางผู้สนใจจำนวนมาก 

ดร.สามารถ กล่าวว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ได้ดูแลกระทรวงคมนาคมจะเร่งก่อสร้างถนน หรือ สะพานเชื่อมสตูลกับเปอร์ลิสของประเทศมาเลเซีย ซึ่งโครงการก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างสตูลกับเปอร์ลิสริ เริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย 1 เมื่อปี 2538 เพื่อเพิ่มทางเลือกในการสัญจรระหว่างสตูลกับเปอร์ลิส
 

จนถึงปัจจุบันยังคงมีเพียงเส้นทางเดียวที่ลัดเลาะไปตามไหล่เขา และมีความลาดชันสูง ไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยในการสัญจร กรมทางหลวงได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้เส้นทางใหม่มา 2 ครั้งแล้ว  

ครั้งแรกในปี 2538 พบว่า จะต้องก่อสร้างเส้นทางในฝั่งไทยระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร และในฝั่งมาเลเซีย ประมาณ 3 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 3,900 ล้านบาท (ราคาในปี พ.ศ.2539) 

สำหรับเส้นทางในฝั่งไทยนั้น จะต้องก่อสร้างสะพานผ่านทะเลอันดามันด้วย ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2543 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติไม่เห็นชอบต่อเส้นทางดังกล่าว เนื่องจากมีผลกรทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง 

                         

ครั้งที่ 2 ในปี 2552 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ กรมทางหลวงทำการศึกษาความเป็นไปได้อีกครั้ง โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 406 วิ่งผ่านชุมชนบ้านท่าจีน บ้านท่าคลอง บ้านหน้าเขาขาว และบ้านวังรายา จนถึงเทือกเขาสันกาลาคีรี หรือ มาเลเซีย เรียกว่านาคาวัน (Nakawan) ซึ่งเป็นเทือกเขาที่กั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย 

                  พรรคประชาธิปัตย์พร้อมดันสตูลเชื่อมเปอร์ลิสรับนักท่องเที่ยวมาเลย์

ทำให้จะต้องขุดเจาะอุโมงค์ทะลุไปสู่มาเลเซีย เพื่อเชื่อมกับถนนหมายเลข R119 ของรัฐเปอร์ลิส เส้นทางนี้มีระยะทางรวมประมาณ 22 กิโลเมตร ประกอบด้วยอุโมงค์ยาวประมาณ 6.5 กิโลเมตร แบ่งเป็นอุโมงค์ในฝั่งไทย 2.9 กิโลเมตร และฝั่งมาเลเซีย 3.6 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้างทั้งโครงการประมาณ 12,660 ล้านบาท (ราคาในปี พ.ศ.2558)  

ดร.สามารถ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา ทราบว่ามีความเคลื่อนไหวของภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดสตูล ที่จะผลักดันให้มีการก่อสร้างสะพานแทนอุโมงค์ ซึ่งตนเห็นว่าจะช่วยประหยัดเวลา และทำให้เกิดความสะดวก สบาย และปลอดภัยในการสัญจรได้ดีกว่า อีกทั้ง ผู้ใช้รถใช้ถนนจะมีโอกาสได้ชมความสวยงามของทะเลอันดามันอีกด้วย 

                พรรคประชาธิปัตย์พร้อมดันสตูลเชื่อมเปอร์ลิสรับนักท่องเที่ยวมาเลย์

ปัจจัยสำคัญเหล่านี้จะเป็นแรงจูงใจให้มีผู้มาใช้บริการเส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก สำหรับรูปแบบสะพานนั้น ตนขอเสนอให้ใช้รูปแบบการก่อสร้างเป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) ตามที่ตนได้เคยเสนอให้สร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุยมาแล้ว ทั้งนี้ ก่อนการปราศรัย ดร.สามารถ ได้ไปดูพื้นที่ที่จะก่อสร้างสะพานบริเวณท่าเรือตำมะลัง 

ดร.สามารถ กล่าวทิ้งท้ายว่า “หากพรรคประชาธิปัตย์ได้ดูแลกระทรวงคมนาคม เราจะเร่งรัดก่อสร้างทางเชื่อมสตูลกับเปอร์ลิสให้เป็นรูปเป็นร่างในระยะเวลา 4 ปีนี้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมาเลย์ ซึ่งจะทำให้มีเงินสะพัดในสตูลปีละนับพันล้านบาท”