27 พ.ค. 2566 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมวางแผนพูดคุยเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลที่สนามกอล์ฟแห่งหนึ่งนั้นว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง
"เป็นข่าวที่บิดเบือนเพื่อให้เกิดความเสียหายกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลนั้นถือเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ไปก้าวล่วงในเรื่องดังกล่าว"
โฆษกพรรค ปชป. กล่าวกรณีสมีการโต้เถียงถึงตำแหน่งประธานรัฐสภา และมีการพาดพิงถึงการทำหน้าที่ประธานรัฐสภาของ นายชวน หลีกภัย ว่า หลักของการเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาด้วยนั้น เพราะต้องการให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนได้ทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภา โดยให้ทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมได้กำหนดไว้
“ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีหน้าที่ไปช่วยเหลือพรรคการเมืองใดในการไปผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะไปวินิจฉัย หรือสั่งการใดที่อยู่นอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม ซึ่งประธานสภา ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม
ที่สำคัญทั้งรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม ทั้งของสภาผู้แทนราษฎร และของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ยังระบุอีกว่า จะต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย”
นายราเมศ กล่าวอีกว่า ส่วนหน้าที่ในการผลักดันผ่านร่างกฎหมายนั้น เป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภา ดังนั้นการให้ความเห็นใดๆ ควรยึดหลักความถูกต้อง ที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของนายชวน ในฐานะประธานรัฐสภานั้น สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ตรงไปตรงมา ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล
ยึดหลักความเป็นกลางในการวินิจฉัยในที่ประชุมทุกครั้ง การจะมากล่าวหาว่าไม่ร่วมผลักดันกฎหมายบางฉบับนั้น ประธานสภาไม่สามารถทำได้
“ส่วนร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับ การยกเลิก ม.112 การยกเลิกความผิดดูหมิ่นเจ้าพนักงาน การยกเลิกความผิดฐานดูหมิ่นศาล ทั้งหมดเหล่านี้ มีการวินิจฉัยว่าขัดและแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ จึงไม่ถูกนำมาบรรจุในระเบียบวาระการประชุม ถ้าประธานสภาไปทำหน้าที่ตามอำเภอใจเพื่อสนับสนุนหรือผลักดัน ก็จะทำให้มีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ได้
นายราเมศ กล่าวว่า การที่พาดพิงว่าประธานชวน ไม่ให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายที่มาจากภาคประชาชนเสนอนั้น นายราเมศกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวก็ไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมามีกฎหมายที่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาหลายฉบับ ตั้งแต่ร่าง พรบ. อ้อยและน้ำตาล และยังมี ร่าง พรบ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปจนถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
“ประธานรัฐสภาต้องทำตามข้อบังคับ เมื่อมีร่างกฎหมายของประชาชนเสนอเข้ามา มีขั้นตอน และเนื้อหาถูกต้อง ประธานสภาก็ต้องนำบรรจุเข้าระเบียบวาระ แต่อำนาจ ดุลพินิจในการพิจารณาร่างกฎหมายเหล่านั้น ล้วนเป็นอำนาจของส.ส. และส.ว.ซึ่งนายชวน ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ถึงกับมีบัญชาให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการร่างกฎหมายให้พี่น้องประชาชน
ดังนั้นที่มาพูดในลักษณะว่าประธานสภา นายชวน หลีกภัย ไม่ได้ผลักดัน ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนเป็นการบิดเบือนทั้งสิ้น พูดเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น และขัดแย้งต่อความรู้สึกของประชาชนที่เห็นการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภามาตลอดว่าได้ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ตรงไปตรงมา”
นอกจากนี้ โฆษกพรรคปชป.ยังแสดงความเป็นห่วงในเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ไข มาตรา 112 ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ว่าจะมีการระบุหรือไม่ใน MOU ก็ตาม แต่เสียงข้างมากของรัฐบาลสามารถที่จะผลักดันเพื่อแก้ไขเรื่องลักษณะนี้ได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 พรรคก้าวไกล โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้มีการเสนอร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีรายละเอียดที่มีความน่ากังวลเป็นอย่างมาก เช่น กรณียกเลิกอัตราโทษจำคุก ในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน กรณีการยกเลิกอัตราโทษจำคุกในความผิดดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษา
จะเห็นว่าที่ผ่านมา มีการไปคุกคาม ข่มขู่ ตุลาการ มีการกระทำในลักษณะละเมิดอำนาจศาล มีการเอาชื่อผู้พิพากษามาเปิดเผยบนเวทีปราศรัย บอกเบอร์โทรศัพท์ ดังนั้นการที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรม อำนาจตุลาการสามารถที่จะพิจารณาคดีด้วยความตรง ไปตรงมา ด้วยความเป็นธรรม ปราศจากการกดดัน จากทุกฝ่าย
จึงจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายคุ้มครองตุลาการ แต่การจะไปยกเลิกความผิด ฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษานั้น ตนเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุด