นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยว่า ขอให้กลุ่มการเมืองที่มีความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยยกเลิกแนวคิดดังกล่าว
ทั้งนี้ สมาชิกวุฒิสภาและพรรคการเมืองต่างๆควรเคารพเสียงของประเทศส่วนใหญ่มากกว่า 70% ในการเลือกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และเดินตามเจตนารมณ์ของประชาชน และไม่มีความจำเป็นใดๆที่ต้องจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพียงเครือข่ายของฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยหยุดปั่นกระแสสร้างความเกลียดชังด้วยการบิดเบือนความจริง ใช้ปฏิบัติการข่าวสารหรือ IO ในการสร้างข่าวเท็จเรื่อง ฐานทัพสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยก็ดี กล่าวอ้างสถาบันกษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองก็ดี
การกระทำดังกล่าวเป็นการสมคบกันเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตย ล้มล้างเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง การกระทำเหล่านี้จะทำให้เกิดวิกฤติประชาธิปไตย นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงได้
อย่างไรก็ดี ขอให้เครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยเหล่านี้ตระหนักถึงเสียงของประชาชน ประชาชนจำนวนมากยอมอดทนและเดือดร้อนอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร คสช. (พ.ศ. 2557-2562) และ ระบอบสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งอันบิดเบี้ยว (พ.ศ. 2562-2566) มาเกือบ 9 ปี
"ประชาชนรอคอยให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติ ทวงคืนประชาธิปไตยผ่านคูหาเลือกตั้ง แนวทางนี้จะทำให้ระบบการเมืองไทยยกระดับขึ้น ก้าวหน้าขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้น หากเครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยกลัวอย่างไร้เหตุผลว่า รัฐบาลใหม่ฝ่ายประชาธิปไตยจะก่อปัญหาในการบริหารประเทศ ก็ยังมีสมาชิกวุฒิสภาและองค์กรอิสระทั้งหลายที่พวกท่านแต่งตั้งตรวจสอบถ่วงดุลและกำกับการทำงานของรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยได้"
นอกจากนี้ ยังมี ส.ส. ฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ในรัฐสภา หากมีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติก็จะไม่มีฝ่ายค้านทำหน้าที่ในรัฐสภา ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน หากเห็นว่า แนวคิดแบบจารีตอนุรักษ์นิยมขวาจัดสุดโต่งเหมาะสมกับโลกในทศวรรษที่สามของศตวรรษที่ 21 ก็สามารถเสนอตัวแข่งขันในการเลือกตั้งในอีก 4 ปีข้างหน้าได้ เพื่อให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง บ้านเมืองจะได้สงบ มั่นคง มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจไทยจะได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง และทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเดินหน้าแก้ไขปัญหาของประชาชนและสร้างโอกาสดีๆให้กับประเทศชาติของเราต่อไปได้
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ความพยายามจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย รัฐบาลแห่งชาติ การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมผ่าน กกต. ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ขอเตือนว่า อย่าคิดที่จะทำเป็นอันขาด เพราะจะต้องเผชิญหน้ากับพลังการประท้วงของมวลชนขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย แล้วอาจนำไปสู่อนาคตที่ไม่อาจคาดเดาได้ของเครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตย
และกรุณาอย่าสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารแบบปีพ.ศ.2557 อีก เพราะคราวนี้ประชาชนจะไม่ยอม รัฐธรรมนูญปีพ.ศ.2560 และการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 นั้นเป็นไปเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช. และสร้างความชอบธรรมให้การสืบทอดอำนาจของระบอบคณาธิปไตยมากกว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง
"อำนาจของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบนี้ถูกท้าทายด้วยกระแสประชาธิปไตยที่แพร่ขยายด้วยพลังของสื่อสังคมออนไลน์และกระแสโลกาภิวัตน์ เมื่อประชาชนได้ร่วมกันทวงคืนประชาธิปไตยจนสำเร็จในการเลือกตั้งปีนี้แล้ว ประชาชนยังต้องมีภารกิจในการปกป้องประชาธิปไตยจนกว่าการจัดตั้งรัฐบาล ประชาธิปไตยจะเรียบร้อย ป้องกันไม่ให้เกิดการปล้นชัยชนะของประชาชนด้วยอภินิหารทางกฎหมาย หรือ การละเมิดต่อหลักความถูกต้องเป็นธรรมและหลักนิติธรรมขององค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ"
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า การเข้าแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยในอนาคตด้วยการใช้รถถังหรืออาวุธมายึดอำนาจมีความเสี่ยงน้อยลง แต่จะมีการใช้สงครามปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอเพื่อทำลายรัฐบาลประชาธิปไตยแทน ปฏิบัติการข่าวสารบิดเบือน ไอโอของข่าวลวงข่าวเท็จพวกนี้จะพุ่งเป้าทำลายไปที่นโยบายของพรรคการเมือง สถาบันพรรคการเมือง และนักการเมืองทั้งหลาย
การปฏิบัติการข่าวสารบางส่วนจะใช้ ข้อมูลกึ่งเท็จกึ่งจริง เพื่อทำลายภาพลักษณ์นักการเมืองให้เสียหายจนประชาชนสิ้นศรัทธา หรือการปลุกปั่นความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมขวาจัด หรือแอบอ้างสถาบันสำคัญของชาติในการสร้างความแตกแยกในสังคมอย่างสุดโต่ง ทำลายบรรยากาศของความเห็นต่างที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยการพูดคุยด้วยเหตุผล
ปฏิบัติการไอโอของเครือข่ายจารีตอนุรักษ์นิยมขวาจัดสุดโต่งแอบอ้างสถาบันสำคัญของชาติเหล่านี้มีการทำงานอย่างเป็นระบบจนกระทั่งพัฒนาสู่ความเป็นสถาบัน หากรัฐบาลขั้วเสรีประชาธิปไตยไม่แก้ปัญหาอย่างทันท่วงที อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนสร้างความเกลียดชังอาจกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ ความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยและความสันติสุขของสังคมได้
สิ่งที่ควรเกิดขึ้น คือ การถ่ายโอนอำนาจและการทำงานอย่างสันติระหว่างรัฐบาลเก่าและรัฐบาลใหม่อย่างเป็นระบบ อย่างเป็นมิตรในฐานะเพื่อนร่วมชาติร่วมแผ่นดิน การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนจะได้ราบรื่น และ สานงานต่อเพื่อประเทศชาติจะได้ไม่สะดุด