ในขณะที่รัฐสภาจะมีมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะมาดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศ "ฐานเศรษฐกิจ" พาไปย้อนดูทำเนียบนายกรัฐมนตรีของไทยกันนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2566 ประเทศไทยมีผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วรวมทั้งสิ้น 29 คน เป็นใคร มาจากไหนกันบ้างไปดูกันเลย
1. พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)
เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 วันเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 - 20 มิถุนายน 2476
พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 21 มิถุนายน 2476 เนื่องจากการเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่นำโดย พลเอกพระยาพหลพลพยุเสนา โดยพระยามโนปกรณนิติธาดาได้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และย้ายไปพำนักอยู่ที่ปีนังเป็นเวลา 16 ปีเศษ ก่อนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2491 รวมอายุได้ 64 ปีเศษ
2. พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
เข้ารับตำแหน่งโดยการทำรัฐประหารรัฐบาลของ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2476 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่บริหารประเทศต้องเผชิญกับปัญหามากมาย จนต้องลาออกจากตำแหน่งหลายครั้ง
กระทั่งตัดสินใจยุบสภาและลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2481 ถึงแก่อสัญกรรมด้วยเส้นโลหิตในสมองแตกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2490 รวมอายุได้ 60 ปี
3. จอมพล แปลก พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)
เข้ารับตำแหน่ง 16 ธันวาคม 2481 - 16 กันยายน 2500 โดย พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม (ตำแหน่งในขณะนั้น) เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อจากพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2481 โดยการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม เป็นจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2484
จอมพล แปลกพิบูลสงครามบริหารประเทศมาถึง 8 สมัย กระทั่งในวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นได้ทำการรัฐประหาร จึงลี้ภัยทางการเมืองไปพำนักที่เขมร และย้ายไปที่ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย และกลับมาพำนักที่ประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง จนถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ที่บ้านพัก ชานกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2507 รวมอายุได้ 67 ปี
4.พันตรี ควง อภัยวงศ์
วันเข้ารับตำแหน่ง 1 สิงหาคม 2487 - 8 เมษายน 2491 โดย พ.ต.ควง อภัยวงศ์ เข้ารับตำแหน่งนายกฯ หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรไม่ผ่านร่างพ.ร.ก.ระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ และ พ.ร.ก.จัดสร้างพุทธมณฑลของรัฐบาล จอมพล แปลก พิบูลสงคราม และจอมพล แปลก ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ
กระทั่งในวันที่ 8 เมษายน 2491 ได้ถูกคณะนายทหารบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เพื่อเปิดทางให้จอมพล แปลก พิบูลสงคราม กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไป จากนั้นได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอยู่ในสภาได้ระยะหนึ่ง ก่อนถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2511 รวมอายุได้ 66 ปี
5. นายทวี บุณยเกตุ
วันเข้ารับตำแหน่ง 31 สิงหาคม 2488 - 17 กันยายน 2488 นายทวี ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังจากที่พันตรีควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เพื่อรอการเดินทางกลับของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าขบวนการเสรีไทยสายต่างประเทศที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ เพื่อดำเนินการเจรจากับฝ่ายพันธมิตรให้เป็นผลดีแก่ประเทศ โดยได้บริหารประเทศเพียง 17 วันเท่านั้น นายทวีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2514 รวมอายุได้ 67 ปี
6.หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
เข้ารับตำแหน่ง 17 กันยายน 2488 - 6 ตุลาคม 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เดินทางกลับเมืองไทยหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง กลับมารับตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2488 หมุนเวียนดำรงตำแหน่งนายกฯ รวม 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายซึ่งเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ร.น. ได้จัดตั้งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเข้ายึดอำนาจ
7.นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม)
เข้ารับตำแหน่ง 24 มีนาคม 2489 - 23 สิงหาคม 2489 นายปรีดี พนมยงค์ เข้ารับตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ได้ลาออก กระทั่งเกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลด้วยพระแสงปืน
รัฐบาลถูกโจมตีอย่างหนัก ถูกกล่าวหาว่าพยาบามปิดบังและอำพรางความจริงในกรณีสวรรคต รวมทั้งไม่สามารถหาข้อเท็จจริงในการสวรรคตมาแจ้งให้ประชาชนทราบได้ นายปรีดี จึงลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2589
กระทั่งเมื่อนายทหารบกทั้งในและนอกราชการก่อการรัฐประหารรัฐบาลของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายปรีดีได้หลบหนีออกนอกประเทศไปพำนักที่มาเลเซียและได้ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่จีนเป็นเวลาหลายปี จากนั้นได้ไปใช้ชีวิตที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อนถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวายที่บ้านพักชานกรุงปารีส รวมอายุได้ 83 ปี
8.พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์)
เข้ารับตำแหน่ง 23 สิงหาคม 2489 - 8 พฤศจิกายน 2490
พลเรือตรี ถวัลย์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อจากนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม กระทั่งเกิดการรัฐประหารโดยการนำของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ และพันเอกกาจ กาจสงคราม จึงลี้ภัยไปอยู่ฮ่องกงระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับมาเมืองไทยใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบ กระทั่งถึงแก่อสัญกรรม ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2531 รวมอายุได้ 87 ปี
9.นาย พจน์ สารสิน
เข้ารับตำแหน่ง 21 กันยายน 2500 - 1 มกราคม 2501 นาย พจน์ สารสิน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังจากการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งภายหลังจัดการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว นายพจน์ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และกลับไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) ตามเดิม และยุติบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิง
10. จอมพล ถนอม กิตติขจร
เข้ารับตำแหน่ง 1 มกราคม 2501 - 14 ตุลาคม 2516 จอมพล ถนอม ได้รับการซาวเสียงจากสภาผู้แทนราษฎรให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังบริหารประเทศได้เพียง 9 เดือนเศษก็ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นเป็นนายกฯ ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกฯ อีกครั้งหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ถึงแก่อสัญกรรม
ในปี 2514 จอมพล ถนอมได้ทำรัฐประหารรัฐบาลของตนเองและได้จัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติขึ้น กระทั่งมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 สภานิติบัญญัติแห่งชาติตามธรรมนูญการปกครองได้มีมติให้จอมพลถนอม เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไป
จากนั้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จอมพลถนอม ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากเหตุการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญของกลุ่มนิสิตนักศึกษา และจากเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศจึงได้เดินทางออกนอกประเทศ รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ 10 ปี 6 เดือนเศษ
11.จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
เข้ารับตำแหน่ง 9 กุมภาพันธ์ 2502 - 8 ธันวาคม 2506 จอมพล สฤษดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังจากการทำรัฐประหารรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ดำรงตำแหน่งนายกฯ จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมอายุได้ 55 ปี นับเป็นนายกฯ คนเดียวที่เสียชีวิตในขณะดำรงตำแหน่ง
12.นายสัญญา ธรรมศักดิ์
เข้ารับตำแหน่ง 14 ตุลาคม 2516 - 15 กุมภาพันธ์ 2518 หลังจากการลาออกของตำแหน่งนายกฯ ของ จอมพลถนอม กิตติขจร และเดินทางออกนอกประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ
ก่อนจะต้องลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากกลุ่มนิสิต นักศึกษาและกลุ่มพลังต่าง ๆ เรียกร้องและสร้างแรงกดดันกับรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2517 แต่หลังจากได้รับการยืนยันจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ดำรงตำแหน่งต่อไป กระทั่งมีการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลในขณะนั้นสิ้นสุดลงคณะรัฐบาลของนายสัญญาจึงได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518
13.พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
เข้ารับตำแหน่ง 14 มีนาคม 2518 - 12 มกราคม 2519 พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ได้เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเป็นผลมาจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจึงได้ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลแต่ไม่สามารถเข้าบริหารประเทศได้ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้ความเห็นชอบตามนโยบายพรรคกิจสังคมซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 18 คน โดยการนำของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ จึงได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น และได้เข้ารับตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2518
อย่างไรก็ดี เนื่องจากการที่รัฐบาลผสมหลายพรรค ทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ในที่สุดหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์จึงได้ตัดสินใจยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2519 รวมระยะเวลาที่บริหารประเทศประมาณ 9 เดือนเศษ
14. นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
เข้ารับตำแหน่ง 8 ตุลาคม 2519 - 20 ตุลาคม 2520 นายธานินทร์ เข้ารับตำแหน่งนายกฯ หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยการนำของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ร.น. ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อย่างไรก็ดี ในช่วงบริหารประเทศนั้นได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่สำคัญหลายครั้ง คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 นายธานินทร์ จึงพ้นจากตำแหน่งนายกฯ
15.พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เข้ารับตำแหน่ง 11 พฤศจิกายน 2520 - 3 มีนาคม 2523 พล.อ.เกรียงศักดิ์ เข้ารับตำแหน่งนายกฯ หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายใต้การนำของ พล.ร.อ.สงัด ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดยพล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523
16. พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
เข้ารับตำแหน่ง 3 มีนาคม 2523 - 4 สิงหาคม 2531 พล.อ.เปรม เข้ารับตำแหน่งนายกฯ สืบต่อจากพล.อ.เกรียงศักดิ์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 โดยได้บริหารประเทศมาจนถึงวันที่ 28 เมษายน 2531 ก็ได้ตัดสินใจยุบสภาเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 และยุติบทบาททางการเมือง ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น องคมนตรีและรัฐบุรุษ
17.พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
เข้ารับตำแหน่ง 4 สิงหาคม 2531 - 23 กุมภาพันธ์ 2534 พล.อ.ชาติชาติ เข้ารับตำแหน่งนายกฯ
เมื่อพรรคชาติไทยที่ พล.อ.ชาติชายเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ในขณะนั้นเข้าจัดตั้งรัฐบาล บริหารประเทศจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ก็ถูกยึดอำนาจการปกครองโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ จึงได้เดินทางไปพำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษระยะหนึ่ง และเดินทางกลับมาไทย กระทั่งได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.ของจังหวัดนครราชสีมาในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 สังกัดพรรคชาติพัฒนา ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค
18.นายอานันท์ ปันยารชุน
เข้ารับตำแหน่ง 2 มีนาคม 2534 - 22 กันยายน 2535 นายอานันท์ ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ 2 มีนาคม 2534 พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2535 เมื่อมีการเลือกตั้งสส.ในวันที่ 22 มีนาคม 2535 ต่อจากนั้นได้รักษาการในตำแหน่งนายกฯ จนกระทั่งพล.อ.สุจินดา คราประยูร และ ครม.ชุดใหม่ได้เริ่มปฏิบัติงาน
ต่อมาเมื่อพล.อ.สุจินดา ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้นายอานันท์ ดำรงตำแหน่งนายกฯอีกครั้ง กระทั่งมีการเลือกตั้ง สส. ในวันที่ 13 กันยายน 2535 ได้พ้นจากตำแหน่งไปตามวาระเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2535
19. พลเอกสุจินดา คราประยูร
เข้ารับตำแหน่ง 7 เมษายน 2535 - 9 มิถุนายน 2535 พลเอกสุจินดา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2535 ได้ถูกคัดค้านจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่มกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศขึ้น
พล.อ.สุจินดา จึงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองและให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยอิสระ โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกฯ ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ เป็นการชั่วคราว กระทั่งมีการแต่งตั้งนายกฯรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐบาลพล.อ.สุจินดา จึงพ้นจากตำแหน่งไปตามวาระ
20. นายชวน หลีกภัย
เข้ารับตำแหน่ง 23 กันยายน 2535 - 13 กรกฎาคม 2538
จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายน2535 พรรคการเมือง ซึ่งประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ ความหวังใหม่ พลังธรรม กิจสังคมและพรรคเอกภาพ ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุนให้นายชวน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ นายชวนได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกฯ คนที่ 20 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2535
21.นายบรรหาร ศิลปอาชา
เข้ารับตำแหน่ง 13 กรกฎาคม 2538 - 25 พฤศจิกายน 2539
นายบรรหาร ดำรงตำแหน่งวันที่ 13 กรกฎาคม 2538 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 โดยรัฐบาลยุบสภาเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2539 ให้มีการเลือกตั้งทั่วไป
22.พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
เข้ารับตำแหน่ง 25 พฤศจิกายน 2539 - 8 พฤศจิกายน 2540 หลังจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 พรรคความหวังใหม่ ที่มีพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้า ได้รับเลือกเข้ามามากที่สุดถึง 125 ที่นั่ง จึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นคนที่ 22
ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี ระหว่างการบริหารประเทศนั้นในการอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านในครั้งนั้น แม้ว่าพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ จะได้รับความไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาลแต่วิกฤติศรัทธาต่อรัฐบาลได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นต้องเผชิญกับกระแสการคัดค้านการดำรงตำแหน่ง
รวมถึงมีการต่อต้านจากนักธุรกิจและประชาชน ในที่สุดพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ จำต้องลาออกจากตำแหน่งหลังจากที่เข้ามาบริหารประเทศได้ประมาณ 11 เดือนเศษ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
23. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เข้ารับตำแหน่ง 9 กุมภาพันธ์ 2544 - 19 กันยายน 2549
นายทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2548 โดยอายุสภาฯสิ้นสุดครบวาระ 4 ปี ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งเป็นนายกฯอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2548 โดยมติสภาผู้แทนราษฎร พ้นจากตำแหน่งวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยรัฐประหารนำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
24. พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
เข้ารับตำแหน่ง 1 ตุลาคม 2549 - 29 มกราคม 2551 ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)
25.นายสมัคร สุนทรเวช
เข้ารับตำแหน่ง 29 มกราคม 2551 - 9 กันยายน 2551 โดยเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ ให้สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในวันเดียวกัน
กระทั่งในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง วินิจฉัยวินิจฉัยให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีลง เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ของรายการ "ชิมไปบ่นไป" และ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" เห็นว่า สมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัครสิ้นสุดลง แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่
26.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
เข้ารับตำแหน่ง 18 กันยายน 2551 - 2 ธันวาคม 2551 นายสมชาย ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของไทยเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 ก่อนจะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน เนื่องจากกรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน
กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 วรรคสอง และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน จำนวน 37 คน เป็นเวลา 5 ปี ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
27.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เข้ารับตำแหน่ง 17 ธันวาคม 2551 - 5 สิงหาคม 2554 ซึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 พรรคประชาธิปัตย์ที่นายอภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรคได้รับการเลือกตั้งจำนวน 165 ที่นั่ง
นายอภิสิทธิ์ได้เข้ารับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 จนกระทั่งวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน เป็นเหตุให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงทำให้มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยนายอภิสิทธิ์ได้รับคะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฏร ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551
ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 พรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคได้รับการเลือกตั้งจำนวน 159 ที่นั่ง นายอภิสิทธิ์ได้เข้ารับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเป็นสมัยที่ 3 เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 จนกระทั่งวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ก็พ้นจากตำแหน่งไปเนื่องด้วย นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร
28.นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เข้ารับตำแหน่ง 5 สิงหาคม 2554 - 7 พฤษภาคม 2557 จากผลการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 1 ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 265 เสียง ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเลือก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
กระทั่ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องพ้นจากการรักษาการนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง จากกรณีมีส่วนใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
29.พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เข้ารับตำแหน่ง 24 สิงหาคม 2557 - 9 มิถุนายน 2562 ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมขับไล่รัฐบาลรักษาการ มูลเหตุความขัดแย้งมาจากการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนำไปสู่การประกาศยุบสภาของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 อันเนื่องมาจากกระแสต่อต้านจากหลายฝ่าย แม้จะประกาศยุบสภาแล้ว แต่การชุมนุมประท้วงกลับยกระดับมากยิ่งขึ้น
จากสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงที่ยืดเยื้อและมีการเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลรักษาการมีความเป็นไปได้ว่าจะนำพาไปสู่ความรุนแรง
กระทั่งในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ 191 เสียง เลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ต่อมา ในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งมีการตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน สมาชิกวุฒิสภาทุกคนเลือกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ก่อนจะประกาศให้มีการยุบสภาจัดเลือกตั้งใหม่ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
ข้อมูล : คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และสถาบันพระปกเกล้า