เทศมองไทย รัฐสภาลงมติ "เศรษฐา" นายกฯคนที่ 30 สิ้นสุดภาวะชะงักงันการเมืองไทย

22 ส.ค. 2566 | 17:14 น.
อัพเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2566 | 23:12 น.

ในที่สุด ไทยก็ได้นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คนที่ 30 จากการลงคะแนนโหวตโดยสมาชิกรัฐสภา (22 ส.ค.) สื่อต่างประเทศระบุนี่คือจุดสิ้นสุดภาวะชะงักงันทางการเมืองของไทยที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 3 เดือนหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม

 

สื่อต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงซีเอ็นเอ็น รอยเตอร์ บีบีซี และเอพี รายงานผล การประชุมรัฐสภาไทย วานนี้ (22 ส.ค.) ซึ่งที่ประชุมลงมติเลือก นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้ได้รับการเสนอชื่อจาก พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้เป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ท่ามกลางความสนใจและจับตามองของต่างชาติที่มีต่อความวุ่นวายฝุ่นตลบเกี่ยวกับความพยายามจับขั้ว จัดตั้งรัฐบาล หลังจากที่การเลือกตั้งทั่วไปผ่านพ้นมาแล้วกว่าสามเดือน

นายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์วัย 60 ปี ได้รับเสียงโหวตรวมกัน 482 เสียงจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทำให้มีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง (374 เสียง) และจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่

นายเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย

ซีเอ็นเอ็น สื่อใหญ่ของสหรัฐพาดหัวตัวใหญ่ การเมืองไทยสิ้นสุดภาวะชะงักงันเสียทีพร้อมกับการมีนายกฯคนใหม่ “ Thai parliament picks Srettha Thavisin as next prime minister ending 3 months of political deadlock” โดยระบุการที่รัฐสภาลงมติรับรองนายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการสิ้นสุดภาวะชะงักงันทางการเมืองที่มาตั้งแต่จบการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม เมื่อพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะถูกสกัดโดยสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร ทำให้พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้มีโอกาสก้าวขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลแทน ด้วยการจับมือกับพรรคการเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับทหารและรัฐบาลชุดก่อน แม้จะต้อง “กลืนเลือด” ผิดคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่าจะไม่ขอร่วมหอลงโรงกับพรรคที่มีทหารหนุนหลังก็ตาม

เศรษฐาเคยให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค.ว่า เขาไม่ใช่คนของนายทักษิณ ชินวัตร (ที่เดินทางกลับไทยในวันเดียวกับที่เศรษฐาได้รับการลงมติรับรองจากรัฐสภาให้เป็นนายกฯคนใหม่) และสิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งก็คือการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ของคนไทย การให้ความเท่าเทียมแก่ประชาชนกลุ่ม LGBTQ+ รวมถึงการให้การรับรองทางกฎหมายแก่การสมรสเพศเดียวกัน การปรามปรามทุจริตคอร์รัปชัน และนำประเทศไทยกลับไปผงาดในเวทีโลกอีกครั้ง

“ผมอยากเป็นนายกฯที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นกิจกรรมการลงทุนของต่างชาติ จำเป็นต้องออกไปพบและพูดคุยกับประชาคมโลก ขายจุดแข็งของประเทศไทย”    

สื่อต่างชาติระบุว่าถึงแม้นายเศรษฐาจะถือเป็นมือใหม่ในเส้นทางการเมือง (political newbie) และเพิ่งเข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง (2565) แต่เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

เทศมองไทย รัฐสภาลงมติ \"เศรษฐา\" นายกฯคนที่ 30 สิ้นสุดภาวะชะงักงันการเมืองไทย

ด้าน สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานวานนี้ (22 ส.ค.) ว่า นายเศรษฐากล่าวกับผู้สื่อข่าวที่สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทยท่ามกลางเสียงเชียร์ของผู้สนับสนุนที่มาร่วมแสดงความยินดี โดยประกาศภายในงานว่า เขาจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด และจะทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน

รอยเตอร์ชี้ว่า การลงมติของรัฐสภาเพื่อรับรองนายเศรษฐาเป็นนายกฯคนใหม่ เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในวันเดียวกันนั้น (22 ส.ค.) ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยเต็มขั้น ขณะที่กองทัพสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศ ต่างเกาะติดการกลับไทยครั้งนี้ของเขาอย่างคึกคัก เนื่องจากเป็นการกลับมาครั้งแรกในรอบ 15 ปีของการที่ต้องหลบหนีคดีอยู่ในต่างแดน และเป็นการกลับมาเพื่อรับโทษคดีอาญาที่มีโทษจำคุกถึง 8 ปี

นายทักษิณที่ถูกโค่นอำนาจจากการทำรัฐประหารโดยกองทัพในปี พ.ศ. 2549 ต้องคดีในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน เขาเริ่มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยทันทีหลังเดินทางกลับถึงไทย โดยถูกควบคุมตัวขึ้นขบวนรถตำรวจ และเดินทางไปยังศาลฎีกาเพื่อรับฟังคำพิพากษาคดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ คดีหวยบนดิน และคดีแก้ไขสัมปทานเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป ก่อนจะถูกควบคุมตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

“ผมจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ลืมความเหน็ดเหนื่อย และจะยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน”

ด้าน บีบีซีภาคภาษาไทย ซึ่งมีโอกาสสัมภาษณ์นายทักษิณเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมาก่อนที่เขาจะเดินทางกลับไทย รายงานว่า  อดีตนายกฯผู้นี้แสดงความมั่นใจว่า นายเศรษฐาจะได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งสส.และสว. มากเพียงพอต่อการเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยเขายืนยันว่า กำหนดการเดินทางกลับไทยของเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับกระบวนการเลือกนายกฯของรัฐสภา

บีบีซีไทย ซึ่งตามติดความเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยในวันแห่งประวัติศาสตร์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (22 ส.ค.) รายงานว่า ในการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯคนใหม่นั้น นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา(สว.) สายทหาร โดยถึงแม้ว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหมที่ได้เข้าร่วมประชุม 4 คน จะพร้อมใจกันงดออกเสียง ขณะที่อีก 2 คนไม่ปรากฏการลงคะแนน แต่บรรดานายพลที่เป็นอดีตรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ก่อรัฐประหารปี 2557 ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้า คสช. ส่วนใหญ่ อาทิ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว และพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ต่างก็โหวตเห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

“ผมจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ลืมความเหน็ดเหนื่อย และจะยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนครับ” นายเศรษฐากล่าวในการแถลงข่าวครั้งแรกในฐานะ “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” โดยใช้เวลาแถลงไม่ถึง 1 นาที หลังจากนี้ เขาต้องเข้ารับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเสียก่อน จึงจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยอย่างเป็นทางการ

นายเศรษฐาระบุว่า ขอให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้แล้วเสร็จก่อน หลังจากนั้นจะมีการแถลงข่าวอีกครั้งอย่างละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลผสมซึ่งมาจาก 11 พรรคการเมือง

สำนักข่าวเอพี สะท้อนภาพการเมืองไทยผ่านมุมมองของนักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ที่ให้สัมภาษณ์กับเอพีว่า ในอดีตนั้น พรรคเพื่อไทยได้ชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองที่ยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยมากที่สุด แต่หลังจากการ “สลายขั้ว” หันไปจับมือกับพรรคการเมืองที่มีกองทัพสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นพปชร. หรือ รทสช. ทำให้ภาพลักษณ์ที่เคยมีมาได้สลายไปแล้ว

นอกจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีมุมมองผลประโยชน์แตกต่างกันอย่างหลากหลายนี้ น่าจะทำให้รัฐบาลที่เกิดขึ้นอยู่ได้อย่าง “ไม่เป็นสุข” มากนัก เพราะถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องมารวมตัวกันทั้งที่มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกันไป ไหนยังจะโดนกระแสตีกลับในแง่ความศรัทธาที่ลดลงจากกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่ผิดหวังกับการที่พรรคเปลี่ยนจุดยืนไปจับมือกับพรรคที่เคยอยู่ฝั่งตรงข้าม

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความหวังขณะให้สัมภาษณ์กับเอพีว่า รัฐบาลชุดใหม่อาจจะทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ โดยมีพรรคก้าวไกลที่ยังอาจเดินหน้าดำเนินนโยบายปฏิรูปของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ทำหน้าที่จากฟากฝั่งฝ่ายค้าน