การรับสมัคร ส.ส.แบ่งเขตของ กกต.จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่วันที่ 3-7 เมษายน 2566 มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ จำนวน 161 คน มากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ รองลงมาจาก กรุงเทพฯ จำนวน 408 คน โคราช จำนวน 192 คน ขอนแก่น จำนวน 165 คน และอุดรธานีจำนวน 161 คน ซึ่งในส่วนของจังหวัดอุดรธานี มี 10 เขต เมื่อนำเอาตัวเลขจำนวนผู้สมัคร 161 คน มาคิดเฉลี่ยแล้ว จะตกอยู่ 15 คนเศษๆต่อ ส.ส.1 คน
จากพื้นที่เลือกตั้งที่มีขนาดใหญ่ ทำให้เมืองหลวงคนเสื้อแดง เป็นที่จดจ้องทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เพราะเมืองอุดรเคยได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในภาคอีสานของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากมีกลุ่มธุรกิจตระกูล "ฑีฆธนานนท์" ในเครือบริษัทอุดรเจริญศรี " เคยหนุนตั้งแต่ใช้ชื่อ พรรค"ไทยรักไทย"มี"คุณหญิงหน่อย" คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นแกนนำสำคัญในขณะนั้น ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย
นอกจากนั้น จังหวัดอุดรธานี มีกลุ่มเสื้อแดงที่เคยทรงพลังอำนาจมากคือ “กลุ่มคนรักอุดร” มีนายขวัญชัย ไพรพนา หรือสาราคำ เป็นผู้นำกลุ่ม เคยมีบทบาทเด่นชัดมาก เมื่อสมัยกลุ่มเสื้อแดงเคลื่อนไหวหนักๆ เป็นที่รู้กันดีว่า"นายใหญ่"ที่อยู่แดนไกลไว้วางใจกับบทบาทของกลุ่มเสื้อแดงกลุ่มนี้มาก
ทว่า การเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึง ต้องจับตามองดูเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของประชาชน หรือความเปลี่ยนแปลงของพรรคเพื่อไทยที่เคยเป็นหนึ่งเดียวอย่างใกล้ชิด และด้วยความเป็นธรรม เช่น การที่คุณหญิงหน่อย พาพรรคพวกแยกตัวมาตั้งพรรค ไทยสร้างไทย โดยตนเองเป็นหัวหน้าพรรค ให้เป็นพรรคของคนอีสาน ทั้งๆที่หากเมื่อสมัยก่อตั้งพรรคไทยรักไทย คุณหญิงหน่อยฯเป็นหัวหน้าเสียเอง ปัญหาสารพัดที่เกิดขึ้นกับประเทศ ก็คงไม่มี
การที่แกนนำคนสำคัญของคนเสื้อแดง นายจตุพร พรหมพันธ์ุ หรือ ตู่เล็ก ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คนที่อยู่แดนไกลชนิดที่เรียกได้ว่า "พอแล้วนาย" เหมือนกับที่นายเนวิน ชิดชอบ เคยพูดมาก่อน บวกกับปัจจัยเสริมการแบ่งเขตการเลือกตั้งพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ด้วยการแบ่งซอยเขตการเลือกตั้งออกจากเดิม 8 เขต เป็น 10 เขต ตัวอย่าง เช่นพื้นที่อำเภอเมืองอุดรธานีถูกแบ่งซอยพื้นที่ออกไปถึง 5 เขตการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนสับสนว่าตนอยู่ในเขตการเลือกตั้งใด ผู้สมัคร ส.ส.แบ่งเขต ก็เกิดความยุ่งยากในการหาเสียง
ที่สำคัญคือเป็นการแข่งขันของกลุ่มเสื้อแดงกันเอง เป็นอีกปัญหาที่เสื้อแดงในอุดรธานีต้องเลือกข้างระหว่าง "อุ๋งอิ๋ง" แพรทองธาร ชินวัตร กับ คุณหญิงสุดารัตน์ ปัญหาที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยอุดรธานีกำลังเผชิญพายุลมปากคนขณะนี้คือ มีผู้สันทัดกรณีการเมืองในพื้นที่ รวมทั้งคนเสื้อแดงเองด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทยในพื้นที่บางคนเป็น ส.ส.แล้วไม่ลงพื้นที่ ทำให้มีการคาดหมายว่าในการเลือกตั้ง 2566 นี้ หลายคนจะไม่ได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง และมีการนำลูกทายาทนักการเมืองมาลงสมัคร
ดูตามรายชื่อผู้สมัครส.ส.แล้วพบว่ามีคนสมาชิกเสื้อแดงแทรกอยู่ในหลายพรรค เช่น น.ส.อิงค์ณภัจฉร์ ชินวัตรนุวงศ์ ในอดีตเคยสัมภาษณ์สื่อต่างประเทศด่ารัฐบาลจนเป็นที่วิพากย์วิจารณ์ ลงสมัคร พรรคเสรีรวมไทย นายจักรพรรด์ ไชยสาส์น ลูกชายบ้านใหญ่”ไชยสาส์น” ลงสมัครพรรคภูมิใจไทย นายชัชวาล ลือคำหาญ ทนายความเสื้อแดง ผันตัวเองไปลงพรรคพลังประชารัฐ
ส่วนที่เอาลูกมาลงสมัคร นายกรวีร์ สาราคำ ลงสมัครแทนแม่ นางอาภรณ์ สาราคำ ที่ต้องไปดูแลสุขภาพของนายขวัญชัยฯ นางเทียบจุฑา ขาวขำ ก็พวงเอาลูกชายหัวแก้วหัวแหวน นายวัชนพล ขาวขำ ลงในนามพรรคเพื่อไทย หรือ นางหทัยรัตน์ เพชรพนมพร พี่สาวของนายศราวุธฯ ก็ลงสมัครเขต 2 พรรคเพื่อไทย ฯ
ส่วนที่เคยเป็นพื้นที่หลักของพรรคเพื่อไทย และคิดจะเอาใครก็ได้มาลงสมัครก็จะได้รับเลือกตั้งเหมือนอย่างที่ผ่านมานั้น ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. นั้น จะไม่มีเหตุการณ์ดังที่ผ่านมาเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้เนื่องจากครั้งนี้มีพรรคคู่แข่งที่เป็นเสื้อแดง อย่างพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงหน่อย กลายเป็นก้างชิ้นโต ยังมีพรรคก้าวไกล ที่ผู้สันทัดการเมืองหลายฝ่ายชี้ว่าเป็นพรรคน้องใหม่มาแรง
นอกจากนี้แล้วก็มีพรรครวมไทยสร้างชาติ ของ"ลุงตู่" คอยเป็นก้างขวางคอ มีพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ ที่หันมาให้ความสนใจพื้นที่จังหวัดอุดรธานีส่งผู้สมัครลงครบทั้ง 10 เขตเต็มอัตรา
แถมยังมีเป้าหมายที่จะขอที่นั่ง ส.ส.ของจังหวัดอุดรธานีด้วย จึงมีการจับตามองว่าสนามเลือกตั้งจังหวัดอุดรธานี ปี 2566 เป็นสนามเลือกตั้งที่จะมีความดุเดือด รุนแรง
โดยผู้สันทัดกรณีให้การคาดการณ์ว่าทุกพรรคจะต้องงัดวิธีการต่างๆ ทั้งนโยบายของพรรค ที่ต่างก็คิดค้น คิดหา มาจูงใจ เพื่อให้คนของพรรคตนได้รับเลือกตั้ง
อีกกรณีหนึ่งวิธีการที่ใช้ในการหาเสียงทุกสมัยคือ จะมีการเปรียบเทียบว่า หมาจะไม่เห่าก่อนวันเลือกตั้งเพียงวันเดียว แต่จะเห่าหอนกันเป็นระยะๆ จะทำให้เศรษฐกิจการเลือกตั้งเกิดความสะพัดกันอย่างต่อเนื่องในระยะสั้นๆ ที่สำคัญว่าพรรคใด จะมีเสียงดังและมีปัจจัยทางการเมืองที่มากพอ
นอกจากนี้ยังให้ข้อสังเกต กรณีการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านของประชาชน ซึ่งจะกระทำไม่ได้ หากว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ ในสังกัดกรมการปกครอง กรณีบัตร 2 ใบ ที่บัตร ส.ส.แบ่งเขตที่มีแบบเดียว มีแต่หมายเลขประจำตัว แม้ว่าจะทำให้มีบัตรเสียน้อย แต่ผู้มีสิทธิ์จะกากะบาทผิดหมายเลข อาจส่งผลให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งที่มีอายุมากจำหมายเลขสับสน
จนมีการพูดว่าเป็นการทำแบบลับลวงพรางหรือไม่!
ยงยุทธ ขาวโกมล อุดรธานี : รายงาน