โผครม.เศรษฐา1 เป็นที่ฮือฮาขึ้นมาอีกครั้ง หลังปรากฏชื่อของ นายพิชิต ชื่นบาน หัวหน้าทีมทนายความของตระกูลชินวัตร โผล่เข้ามาติดในโผคณะรัฐมนตรี โดยคาดว่าจะเข้ามานั่งในตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสียบแทนชื่อ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ซึ่งเดิมมีชื่อว่า จะนั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย
ภายใต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เป็นรัฐมนตรี นั่นเพราะที่ผ่านมา นายพิชิต ชื่นบาน เคยถูกศาลมีคำสั่งจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล กรณีที่มีข่าวว่าหิ้วถุงขนมใส่เงินสด 2 ล้านบาทไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาล ระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาฯ ของศาลฎีกาคดีแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ฐานเศรษฐกิจ ขอพาย้อนรอยไปดูคำพิพากษาฉบับเต็มของศาลฎีกา ในคดีละเมิดอำนาจศาล ทั้งหมดว่า มีรายละเอียดที่มาที่ไปอย่างไร ไปดูกันชัด ๆ ดังนี้
ที่มาของ “ถุงขนม” 2 ล้าน
คำพิพากษาฉบับเต็มของศาลฎีกา ความแพ่ง ระหว่าง นายอนันต์ วงษ์ประภารัตน์ เป็นผู้กล่าวหา นายพิชิต หรือพิชิฏ ชื่นบาน ที่ 1 นางสาวศุภศรี ศรีสวัสดิ์ ที่ 2 นายธนา ตันศิริ ที่ 3 เป็นผู้ถูกกล่าวหา เรื่อง ละเมิดอำนาจศาล
เรื่องนี้เกิดขึ้นหลัง นายอนันต์ วงษ์ประภารัตน์ เลขานุการศาลฎีกา ได้ทำบันทึกลงวันที่ 10 มิถุนายน 2551 รายงานต่อนายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกาว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 เวลาประมาณ 9.30 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) จะมารายงานตัวที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นายอนันต์ ไปตรวจดูความเรียบร้อยที่แผนกดังกล่าว เมื่อนายอนันต์ เข้าไปในห้องเจ้าหน้าที่ ได้มีเจ้าหน้าที่ถือถุงกระดาษ ซึ่งมีสกอตเทปปิดไว้มิดชิด มาถามว่า ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้มา จะรับไว้ได้หรือไม่
นายอนันต์ จึงสั่งให้เปิดถุงกระดาษออกดูที่โต๊ะของนางพรทิพย์ ศรีนวล หัวหน้าแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา พบว่าเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 2 ตั้ง ดูคร่าว ๆ เห็นตั้งละ 10 มัด จำนวนเงินทั้งหมดน่าจะประมาณ 2,000,000 บาท นายอนันต์ จึงสั่งให้คืนแก่เจ้าของไป
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ได้ความว่า ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางมาถึงแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา มีคณะทนายความของพันตำรวจโททักษิณ มาเตรียมคดี และเสมียนทนายได้มาพบ หม่อมหลวงฐิติพงศ์ ชมพูนท เจ้าหน้าที่ในแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา แจ้งว่า นายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความต้องการพบ
เมื่อ หม่อมหลวงฐิติพงษ์ ไปพบ ได้มีนายธนา ตันศิริ ซึ่งเป็นผู้ติดตามคณะทนายความ ส่งถุงกระดาษให้และพูดว่า เจ้าหน้าที่เหนื่อย จึงซื้อของมาฝากให้ไปแบ่งกัน
หม่อมหลวงฐิติพงศ์ จึงจะไปถามนายรักเกียรติ วัฒนพงษ์ เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาว่า จะรับไว้ได้หรือไม่ แต่นายรักเกียรติ ไปสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ หม่อมหลวงฐิติพงศ์ กลับมาที่ห้องทำงาน ได้พบกับนายอนันต์ ซึ่งตรวจงานอยู่ จึงให้เจ้าหน้าที่ถามนายอนันต์ว่า จะให้ดำเนินการอย่างไร
นายอนันต์ ได้สั่งให้คืนแก่เจ้าของไป นายอนันต์ เห็นว่า การที่นายธนา นำถุงกระดาษบรรจุเงินมามอบให้เจ้าหน้าที่แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา น่าจะเป็นการไม่ชอบ อาจเป็นการละเมิดอำนาจศาลและเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน ประธานศาลฎีกา จึงแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนคดีนี้ และให้ดำเนินการโดยเร็ว
ต่อมาองค์คณะไต่สวนให้เรียกนายอนันต์ วงษ์ประภารัตน์ เลขานุการศาลฎีกาว่า ผู้กล่าวหา นายพิชิต หรือพิชิฎ ชื่นบาน นางสาวศุภศรี ศรีสวัสดิ์ และนายธนา ตันศิริว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
การไต่สวนคดี “ถุงขนม” 2 ล้าน
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางไต่สวนได้ความจากผู้กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 เวลาประมาณ 9 น. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ขึ้นลิฟต์มาที่แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ซึ่งอยู่ชั้น 4 ด้วยกัน และขณะที่ หม่อมหลวงฐิติพงศ์ ชมพูนท นิติกร 5 แผนกคดีอาญาของผู้ดำรตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา กำลังทำงานอยู่ที่ห้องทำงานในแผนก
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นเสมียนทนายของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ทนายความในคดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2550 ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ 1 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ 2 จำเลย ได้นำคำร้องขอรายงานตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน มายื่นต่อศาล
เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน จะต้องมารายงานตัวหลังจากเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ หลังจากหม่อมหลวงฐิติพงศ์ พูดคุยกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เกี่ยวกับวันนัดในคดีดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 บอก หม่อมหลวงฐิติพงศ์ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 อยากจะขอปรึกษาเรื่องคดีด้วย
ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เดินเข้าไปในห้องดังกล่าว หม่อมหลวงฐิติพงศ์ เดินตามเข้าไปนั่งที่โต๊ะตรงข้ามกัน โดยในห้องมีเพียงผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และหม่อมหลวงฐิติพงศ์เท่านั้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 พูดขึ้นว่า ระยะนี้ต้องมาติดต่อบ่อย เห็นใจเจ้าหน้าที่ต้องทำงานเหน็ดเหนื่อยก็เลยมีของมาฝากให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน แล้วผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เดินไปหยิบถุงกระดาษสีขาว ซึ่งวางอยู่ตรงตู้ข้างโต๊ะในห้อง
ถุงดังกล่าวมีสกอตเทปปิดปากถุงตามยาวเกือบตลอดปากถุง หม่อมหลวงฐิติพงศ์ จึงหยิบถุงดังกล่าวเดินออกไปจากห้อง เพื่อไปถามนายรักเกียรติ วัฒนพงษ์ เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ว่าจะรับไว้ได้หรือไม่
โดยหม่อมหลวงฐิติพงษ์ เข้าใจว่าเป็นขนม แต่นายรักเกียรติไม่อยู่ หม่อมหลวงฐิติพงศ์ จึงมอบถุงดังกล่าวให้นางขวัญชีวา แจ่มจิตรตรง นิติกร 4 ซึ่งยืนอยู่หน้าห้องนายรักเกียรติ ไปถามผู้กล่าวหา ซึ่งขณะนั้นอยู่ในห้องธุรการของแผนกว่าจะรับไว้ได้หรือไม่
นางขวัญชีวา เห็นผู้ถูกกล่าวหาพูดคุยกับนายอดิเทพ ถิระวัฒน์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ ไม่กล้ารบกวน จึงถือถุงกระดาษเดินผ่านไป แล้วนำถุงไปวางไว้ที่โต๊ะของนางพรทิพย์ ศรีนวล หัวหน้าแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา แล้วบอกนางพรทิพย์ว่า ทนายความให้เจ้าหน้าที่มาแบ่งกัน
นางขวัญชีวา ไม่ทราบว่าเป็นอะไร นางพรทิพย์บอกไม่ให้รับ และให้นางขวัญชีวา ไปถามผู้กล่าวหาว่า จะรับไว้ได้หรือไม่ ผู้กล่าวหาบอกให้เปิดดู หม่อมหลวงฐิติพงศ์ จึงหยิบคัตเตอร์มากรีดสกอตเทปที่ปิดปากถุงออก พบซองสีน้ำตาลปิดอยู่ เมื่อดึงออกเห็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 2 ตั้งๆ ละ 10 มัดๆ ละ 100 ฉบับ เป็นเงินประมาณ 2,000,000 บาท หม่อมหลวงฐิติพงศ์ หิ้วถุงไปให้ผู้กล่าวหา
ผู้กล่าวหาสั่งให้หม่อมหลวงฐิติพงศ์ไปเรียกผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มารับคืนไป โดยได้มีการถ่ายภาพถุงและธนบัตรทั้งหมดไว้เป็นหลักฐาน ปรากฎตามภาพถ่ายหมาย ก.1 ถึง ก.3 หม่อมหลวงฐิติพงศ์ จึงบอกผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ให้ไปเรียกผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มาพบ ซึ่งขณะนั้นผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ลงไปรอรับ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ชั้นล่าง
ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มารับถุงเงินคืนไปจากนายอำนาจ วงศ์สวรรค์ นิติกรประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ก่อนคืนถุงเงินนายอำนาจ ถามผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ว่า ทราบหรือไม่ว่าในถุงเป็นอะไร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ตอบว่าทราบ นายอำนาจบอกว่า เรารับไม่ได้ พร้อมกับส่งถุงเงินคืนไป ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 รับถุงเงินแล้วก็เดินจากไป
ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ มารายงานตัวต่อศาลและไปนั่งรอในห้องพักทนายความ หม่อมหลวงฐิติพงศ์นำคำร้องพร้อมสำนวนไปเสนอผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเพื่อพิจารณาสั่ง แล้วนำไปให้พันตำรวจโททักษิณเซ็นทราบคำสั่งในห้องพักทนายความ ครั้นเวลาประมาณ 12 นาฬิกา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 โทรศัพท์มาพูดกับหม่อมหลวงฐิติพงศ์ ในทำนองว่า ไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นและกล่าวคำขอโทษต่อหม่อมหลวงฐิติพงศ์
พร้อมกับถามว่าจะทำอย่างไร่ต่อไป หม่อมหลวงฐิติพงศ์ ตอบกลับไปว่า ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามจะมาศาลทุกครั้งเมื่อพันตำรวจโททักษิณและคุณหญิงพจมานมาศาล
คำชี้แจงจากนายพิชิต และ นางสาวศุภศรี ผู้ถูกกล่าวหา คนที่ 1 และ 2
ทางไต่สวนได้ความจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นทนายความให้แก่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2550 โดยมีผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นเสมียนทนายและมีผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นำคำร้องขอรายงานตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานมอบให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มาถึงศาลฎีกา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ชวนผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และ พ.ต.ท.วทัญญู วิทยภโลทัย นายตำรวจติดตาม พ.ต.ท.ทักษิณไปตรวจดูความเรียบร้อยที่ ชั้น 4 แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 3
พบผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นั่งอยู่หน้าห้องพักอัยการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 สั่งผู้ถูกกล่าวหาที่ 2ให้ไปตามหม่อมหลวงฐิติพงศ์ ชมพูนุท เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาซึ่งเป็นผู้ดูแลประสานงานเกี่ยวกับคดีมาโดยตลอดมาพบ
ระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ 3 และ พ.ต.ท.วทัญญูอยู่ในห้องพักทหนายความคนขับรถของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ถือถุงกระดาษเดินเข้ามาในห้องแล้ววางถุงไว้ที่โต๊ะ ครั้งเวลา 9.40 น. ใกล้เวลาที่ พ.ต.ท.โททักษิณจะมาถึง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จึงลุกออกจากห้องพักทนายความเตรียมตัวลงไปรับก็สวนกับหม่อมหลวงฐิติพงศ์บริเวณประตูแต่ไม่ได้พูดกัน
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 สอบถามผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เรื่องคำร้อง โดย พ.ต.ท.วทัญญู ลงไปชั้นล่างก่อน ต่อมาหม่อมหลวงฐิติพงศ์เดินกลับออกมาจากห้องและถือถุงกระดาษใบดังกล่าวออกมาด้วยแล้วเข้าไปในห้องธุรการ ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ยังคงอยู่ในห้องพักทนายความสักพักแล้วตามผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ลงไปรอรับ พ.ต.ท.ทักษิณ
เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณมาถึงศาลฎีกาได้มานั่งรอในห้องพักทนายความพร้อมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 3 รวมทั้งนายพรรณพจน์ ดามาพงศ์ ระหว่างนั้นพันตำรวจโทวทัญญู มาตามผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ออกไป ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เดินไปหาเจ้าหน้าที่ศาลซึ่งเป็นผู้ชายแล้วรับถุงกระดาษคืนมาจากนั้นผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ถือถุงกระดาษไปให้ พ.ต.ท.วทัญญูนำลงไปให้คนขับรถที่ชั้นล่าง
ต่อมาอีกประมาณ 5 นาที หม่อมหลวงฐิติพงศ์เดินถือแฟ้มเข้ามาในห้องเพื่อให้พันตำรวจโททักษิณรับทราบว่ารายงานตัวแล้ว จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 3 รวมทั้งนายบรรณพจน์รอคุณหญิงพจมานอยู่ที่ชั้นล่าง เมื่อคุณหญิงพจมานมาถึงศาลฎีกา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของการรายงานตัวจนแล้วเสร็จและส่งคุณหญิงพจมานกลับ
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เดินมาหาผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่รถและบอกว่าวันนี้มีปัญหา ได้นำของฝากไปให้เจ้าหน้าที่ศาล แต่ถุงของที่นำไปฝากกลายเป็นถุงเงินโดยผิดพลาด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เกรงว่าจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอนจึงรีบโทรศัพท์ไปขอโทษหม่อมหลวงฐิติพงศ์และได้ทราบว่าหม่อมหลวงฐิติพงศ์ได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบแล้ว
คำชี้แจงจากนายธนา ตันศิริ ผู้ถูกกล่าวหาคนที่ 3
ทางไต่สวนได้ความจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นผู้ประสานงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานเกี่ยวกับคดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2550 เนื่องจากภริยาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับคุณหญิงพจมาณ ชินวัตร ในวันที่ 9 มิถุนายน 2551 เวลาประมาณ 21.00 น. นายบุญชาญ อักษรสุวรรณ นำเงินค่าซื้อบ้านของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 บางส่วนมาชำระตามสำเนาสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ถ.ก.1
ต่อมาได้มีการจ่ายเงินที่เหลือและโอนกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 ปรากฎตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน เอกสารหมาย ถ.ก.2 สำเนาโฉนดที่ดิน เอกสารหมาย ถ.ก. 3 และภาพถ่ายบ้านหมาย ถ.ก. 4 ในตอนเช้าของวันเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ไปประสานงานกับเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาตามปกติ เนื่องจากเป็นวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานต้องมารายงานตัวหลังจากกลับจากต่างประเทศผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ให้ภริยาเตรียมของฝากไปให้เจ้าหน้าที่ด้วยเนื่องจากประสานงานกันได้ราบรื่นไม่มีข้อติดขัด
ภริยาผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ซื้อช็อกโกแลตใส่ถุงเตรียมไว้ให้แล้วนำไปวางไว้ในรถบริเวณที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นั่ง ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นำถุงกระดาษใส่เงินจำนวน 2,000,000 บาท ไปใส่ไว้ท้ายรถเพื่อจะนำไปฝากธนาคาร เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ไปถึงศาลฎีกาได้พบกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1
จึงพากันไปเดินดูความเรียบร้อยและให้คนขับรถไปหยิบถุงที่เบาะหลังรถตามขึ้นไปให้ที่ชั้น 4 ระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เดินไปที่ห้องพักทนายความได้พบกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จึงให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไปตามเจ้าหน้าที่ศาลชื่อหม่อมหลวงฐิติพงศ์ ที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ประสานงานอยู่บ่อย ๆ มาพบที่ห้องพักทนายความแล้วผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ก็เข้าไปในห้องพักทนายความคุยกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 สักครู่คนขับรถก็ถือถุงกระดาษเข้ามาในห้องแล้ววางไว้บนโต๊ะ
หลังจากนั้นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เดินออกไป ซึ่งพอดีกับหม่อมหลวงฐิติพงศ์เดินเข้ามาจึงนั่งคุยกันผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ขอบคุณหม่อมหลวงฐิติพงศ์ ที่การประสานงานในเรื่องการรักษาความปลอดภัยและการนัดหมายราบรื่นตลอดมาและบอกว่ามีของฝากเล็กน้อยมาให้หม่อมหลวงฐิติพงศ์และน้อง ๆ หม่อมหลวงฐิติพงศ์ถามว่าเอาอะไรมาฝาก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ตอบว่าเป็นขนมเล็กน้อยไปแบ่งกันรับประทาน จากนั้นหม่อมหลวงฐิติพงศ์ ลุกขึ้นแล้วหิ้วถุงกระดาษออกไป
เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ มาถึงได้มานั่งรอที่ห้องพักทนายความพร้อมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ 3 และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ สักครู่มีคนมาตามผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ไปพบเจ้าหน้าที่ธุรการที่บริเวณหน้าเคาน์เตอร์แผนกรับฟ้อง เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ชายเปิดประตูเลื่อนออกแล้วยื่นถุงกระดาษให้พร้อมกับบอกว่าหม่อมหลวงฐิติพงศ์ให้เอาของมาคืน
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 รับถุงกระดาษคืนมาแล้วให้พันตำรวจโทวทัญญู นำไปเก็บไว้ที่รถ หลังจากพันตำรวจโททักษิณรายงานตัวเสร็จก็เดินทางกลับ ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 อยู่รอคุณหญิงพจมานมารายงานตัว เมื่อคุณหญิงพจมานรายงานตัวเสร็จก็เดินทางกลับ
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 กลับไปที่รถและถามคนขับรถว่าพันตำรวจโทวทัญญูเอาของมาคืนหรือไม่ คนขับรถตอบว่าเอามาคืนแล้วและเอาเก็บไว้ท้ายรถ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เอะใจจึงไปเปิดกระโปรงท้ายรถและแกะถุงดังกล่าวดูปรากฏว่าเป็นเงินจำนวน 2,000,000 บาท ที่จะเอาไปฝากธนาคาร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จึงเปิดประตูรถข้างหลังด้านขวาแล้วแกะถุงอีกถุงหนึ่งซึ่งอยู่ที่เดิมและถามคนขับรถว่าหยิบของจากตรงไหนไปเมื่อเช้า
คนขับรถตอบว่าหยิบถุงไปจากกระโปรงท้ายรถ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เกรงจะเกิดเรื่องยุ่งจึงเดินไปเล่าให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ฟังว่าหยิบถุงผิดไปอยากให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ช่วยนัดหมายหม่อมหลวงฐิติพงศ์เพื่อทำความเข้าใจกัน แล้วผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เดินทางไปทำธุระที่อื่น ต่อมาเวลาประมาณ 13 นาฬิกา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 แจ้งว่าหม่อมหลวงฐิติพงศ์ได้รายงานเรื่องที่เกิดขึ้นให้ผู้บังคับบัญชาทราบแล้ว
คำพิจารณาของศาล
ศาลพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 เวลาประมาณ 9.00 น. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามซึ่งเป็นคณะทนายความและผู้ประสานงานของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ตามลำดับในคดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2550 ได้มาติดต่อเจ้าหน้าที่แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาเพื่อรับการรายงานตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ
ระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามรอการมาถึงของ .ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้ให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไปตามหม่อมหลวงฐิติพงศ์ ชมพูนุท เจ้าหน้าที่ประจำแผนกมาพบในห้องพักทนายความและผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้มอบถุงกระดาษสีขาวข้างในมีของบรรจุอยู่
โดยมีสกอตเทปปิดปากถุงเกือบตลอดแนวให้แก่หม่อมหลวงฐิติพงศ์ หม่อมหลวงฐิติพงศ์กับพวกเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นำถุงไปให้ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาผู้กล่าวหาสั่งให้เปิดดูและพบว่าเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 2 ตั้ง ๆ ละ 10 มัด ๆ ละประมาณ 100 ฉบับ รวมเป็นเงินประมาณ 2,000,000 บาท
บรรจุอยู่มีซองสีน้ำตาลปิดทับอยู่ด้านบน ผู้ถูกกล่าวหาสั่งให้เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพถุงกระดาษและธนบัตรไว้เป็นหลักฐาน ปรากฏตามภาพถ่ายถุงกระดาษและธนบัตรเอกสารหมาย ก.1 ถึง ก.3 จากนั้นผู้ถูกกล่าวหาสั่งให้เจ้าหน้าที่นำถุงไปคืนให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3
วินิจฉัยประการแรก
กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 รู้หรือควรรู้หรือไม่ว่าในถุงกระดาษดังกล่าวมีธนบัตรจำนวน 2,000,000 บาท บรรจุอยู่ ในปัญหานี้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีหม่อมหลวงฐิติพงศ์ ชมพูนุท เป็นพยานเบิกความว่า ในขณะที่พยานกำลังตรวจดูสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2550 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 อยากจะขอปรึกษาเรื่องคดีด้วย พยานทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นผู้คอยติดตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร มาศาลทุกครั้ง และจะอยู่ในกลุ่มของทนายความ
จากนั้นผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ก็เดินเข้าไปในห้องพักทนายความ พยานเดินตามเข้าไปนั่งที่โต๊ะโดยนั่งตรงข้ามและนั่งกันอยู่เพียง 2 คน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 พูดขึ้นว่า ระยะนี้ต้องมาติดต่อบ่อย เห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานเหน็ดเหนื่อย ก็เลยมีของมาฝากให้เจ้าหน้าที่ทุกคน แล้วผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ก็เดินไปหยิบถุงสีขาวซึ่งมีสกอตเทปปิดปากถุงตามยาวเกือบตลอดปากถุงไม่สามารถมองเห็นข้างในได้มามอบให้แก่พยาน
ตอนนั้นพยานเข้าใจว่าเป็นขนมเห็นว่า พยานเป็นเจ้าหน้าที่ศาล เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาทั้งสามติดต่อประสานงานมาโดยตลอดไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน คำเบิกความของพยานจึงน่าเชื่อถือ เชื่อว่า ตอนที่มอบถุงกระดาษกันพยานกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 อยู่ด้วยกันเพียง 2 คน การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ติดต่อให้พยานไปพบที่ห้องพักทนายความแล้วมอบถุงให้พยานเพียงสองต่อสองก็ดี
การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 พูดเป็นนัยว่า มีของมาฝากเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยไม่บอกให้พยานทราบว่า เป็นขนมหรือช๊อกโกแลตก็ดี และการที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ส่งมอบถุงกระดาษที่ปกปิดมิดชิดจนไม่สามารถทราบว่า สิ่งของข้างในเป็นอะไรก็ดี จึงเป็นเรื่องผิดปกติวิสัย
เพราะหากผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ต้องการมอบขนมหรือช็อกโกแลตให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อเป็นการแสดงความมีน้ำใจดังที่ผูถูกกล่าวหาที่ 3 อ้างจริง ก็ย่อมต้องนำถุงขนมหรือช๊อกโกแลตที่อ้างไปมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ห้องธุรการทั้งหมดโดยตรงและโดยเปิดเผย เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจของตน
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงก็ยังปรากฏต่อมาว่า เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ถูกเรียกให้ไปรับถุงกระดาษคืน นายอำนาจ วงศ์สวรรค์ ซ่งเป็นนิติกรประจำแผนกก็เบิกความยืนยันว่า พยานถามผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ว่า ใครเป็นคนให้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ตอบว่า ผูถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นคนนำถุงกระดาษมาให้ พยานจึงให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไปตามผูถูกกล่าวหาที่ 3
หลังจากนั้น 2 ถึง 3 นาที ผู้ถูกกล่าวที่ 2 ก็พาผู้ถูกกล่าวหาที่ 3มาที่หน้าเคาน์เตอร์ พยานถามผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ว่า ทราบหรือไม่ว่าในถุงเป็นอะไร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ตอบว่า ทราบ พยานจึงตอบไปว่า เรารับไม่ได้ พร้อมกับส่งถุงคืนไป ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 รับถุงแล้วก็เดินจากไป โดยไม่ได้พูดอะไร
เห็นว่า พยานปากนี้ เป็นเจ้าหน้าที่ศาลและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มาก่อน คำเบิกความจึงมีน้ำหนักเชื่อถือได้เช่นกัน เชื่อว่าพยานเบิกความตามที่รู้เห็นจริง การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 รับกับพยานว่า ทราบว่าของในถุงเป็นอะไร พร้อมกับรับถุงไปโดยไม่อิดเอื้อน ไม่เปิดถุงออกดู และไม่อธิบายว่าข้างในถุงเป็นอะไร ย่อมเป็นพิรุธของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ย่อมต้องทราบอยู่แล้วว่า ของในถุงเป็นเงิน ที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3
นำสืบโดยสรุปทำนองว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ขายบ้านให้แก่นายบุญชาญ อักษรสุวรรณ ได้ในราคา 5,300,000 บาท เงินจำนวน 2,000,000 บาท เป็นเงินที่ชำระค่าบ้านส่วนหนึ่ง ในวันที่ 9 มิถุนายน 2551 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มอบเงินให้ภริยาห่อใส่ถุงกระดาษเพื่อไปฝากธนาคารในวันรุ่งขึ้น และก่อนเกิดเหตุ 2 ถึง 3 วัน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ให้ภริยาไปซื้อช็อกโกแลต แล้วนำมาห่อใส่ถุงกระดาษที่เหมือนกันเพื่อมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ศาลในวันนัดซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ
แต่คนขับรถของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 หยิบถุงผิดเพราะถุงกระดาษที่บรรจุเงินคืนให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 น่าจะต้องกล่าวคำขอโทษในทันที และน่าจะต้องสั่งให้ พ.ต.ท.วทัญญู เอาถุงกระดาษที่บรรจุว็อกโกแลตกลับขึ้นมาให้ตนเพื่อมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ศาลเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจของตนทั้งหากผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีถุงกระดาษที่มีลักษณะเหมือนกัน 2 ถุง
โดยถุงหนึ่งบรรจุเงินประมาณ 2,000,000 บาท และอีกถุง หนึ่งบรรจุช็อกโกแลตจริง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังตรวจดูเป็นพิเศษว่าปกติธรรมดา ก่อนส่งมอบถุงให้แก่หม่อมหลวงฐิติพงศ์ แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ก็หาได้กระทำไม่
ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าถุงกระดาษที่มอบให้แก่หม่อมหลวงฐิติพงศ์ ชมพูนุท เจ้าหน้าที่ประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา มีธนบัตรจำนวนประมาณ 2,000,000 บาท บรรจุอยู่
วินิจฉัยประการต่อไป
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ร่วมรู้เห็นหรือให้ความร่วมมือในการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 หรือไม่ ในปัญหานี้ได้ความจากหม่อมหลวงฐิติพงศ์ ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นทนายความให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ตามลำดับ ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2550
โดยมีผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นเสมียนทนายและเป็นเลขานุการส่วนตัวของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ติดตามพันตำรวจโททักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามจะมาศาลกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ทุกครั้ง
ข้อเท็จจริงส่วนนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ก็นำสืบเจือสมกับพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นผู้ประสานงานระหว่างพันตำรวจโททักษิณและคุณหญิงพจมาน กับฝ่ายทนายความซึ่งคือ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และ 2 กับเจ้าหน้าที่ศาล
ทั้งข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามก็ปรากฎว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามมีการพูดคุยและประสานงานกันตลอดเวลาขณะอยู่ที่ศาลฎีกา การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เกี่ยวกับคดีจึงอยู่ในความรู้เห็นของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และ 2 ด้วย ถือได้ว่าเป็นคณะทำงานเดียวกัน
ดังจะเห็นได้จากผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไปตามหม่อมหลวงฐิติพงศ์ ไปพบที่ห้องพักทนายความ ทั้งๆที่ขณะนั้นผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ห่างไปเพียง 1 วา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ต่างก็เห็นหม่อมหลวงฐิติพงศ์ เดินถือถุงกระดาษออกมาจากห้อง
วิสัยของคนที่ทำงานร่วมกันใกล้ชิดเช่นผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ย่อมต้องถามไถ่หรือบอกกล่าวให้รู้กันว่า จะนำช็อกโกแลตมาให้เจ้าหน้าที่ศาลโดยไม่จำต้องปิดบัง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นหัวหน้าคณะทนายความของพันตำรวจโททักษิณ และคุณหญิงพจมาน
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรงซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รูปคดีของพันตำรวจโททักษิณและคุณหญิงพจมาน แล้ว ยังเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อวิชาชีพของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เองด้วย แทนที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จะซักไซร้ไล่เรียงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนแล้วดำเนินการแก้ไขนำสิ่งของที่ถูกต้องมามอบให้หรือนำถุงทั้งสองใบไปแสดงในทันทีหรือ ตำหนิผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ก็หาได้กระทำไม่ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กลับโทรศัพท์ไปขอโทษและปรับความเข้าใจกับหม่อมหลวงฐิติพงศ์ ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ร้องขอ พร้อมทั้งสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1
ดังแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในลักษณะเป็นตัวการร่วมกัน ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แม้ขณะเกิดเหตุเป็นเพียงเสมียนทนายแต่ก็เป็นทนายความในสำนักงานของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มาก่อน
ทั้งยังเป็นผู้ประสานงานให้หม่อมหลวงฐิติพงศ์ ไปพบกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และเมื่อผู้กล่าวหาสั่งให้คืนถุงบรรจุเงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ก็ยังไปเรียกผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มารับถุงคืน
นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ยังรออยู่ที่บริเวณเคาน์เตอร์แผนกรับฟ้องและห้องพัก ทนายความที่เกิดเหตุตลอดเวลา ลักษณะของการกระทำดังกล่าวถือได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีส่วนรู้เห็นในการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามดังกล่าว จึงเป็นการร่วมกันและแบ่งหน้าที่กันทำ ฟังได้ว่าเป็นตัวการร่วมกัน
วินิจฉัยประการสุดท้าย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นความผิดละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ เห็นว่า เงินที่ผู้ถุกกล่าวหาที่ 3 มอบให้ม.ล.ฐิติพงศ์ เพื่อนำไปแบ่งกันกับเจ้าหน้าที่ในแผนกมีจำนวนมากถึง 2,000,000 บาท แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามมีเจตนาที่จูงใจให้ม.ล.ฐิติพงศ์ และเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม
จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1),33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทายและเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ประกอบอาชีพทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาล ยุติธรรมและจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ
จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนละ 6 เดือน ส่วนความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าหน้าที่พนักงาน นั้น ให้ผู้กล่าวหาไปดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป