thansettakij
หุ้น Defensive Stock ที่หลบภัยของนักลงทุน

หุ้น Defensive Stock ที่หลบภัยของนักลงทุน

25 ก.พ. 2568 | 22:56 น.

หุ้น Defensive Stock ที่หลบภัยของนักลงทุน หุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง ความเสี่ยงต่ำ ทนทานในทุกสภาพตลาด จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ กลยุทธ์การลงทุนยามตลาดผันผวน

ในภาวะที่ตลาดหุ้นมีความไม่แน่นอนสูง อาจเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น เงินเฟ้อ หรือแม้แต่เหตุการณ์ทางการเมืองและสงคราม นักลงทุนมักมองหาหุ้นที่สามารถช่วยลดความเสี่ยง และ หุ้น Defensive Stock คือหนึ่งในกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยม

หุ้น Defensive Stock หรือ หุ้นป้องกันความเสี่ยง เป็นหุ้นของบริษัทที่มีธุรกิจมั่นคง และสามารถดำเนินกิจการได้ดีแม้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ธุรกิจเหล่านี้มักเป็นสินค้าหรือบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทำให้ความต้องการสินค้าไม่ลดลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจ

ตัวอย่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็น Defensive Stocks ได้แก่ 

  • สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น บริษัทที่ผลิตอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ในครัวเรือน 
  • ภาคสาธารณูปโภค เช่น บริษัทการไฟฟ้า หรือบริษัทผลิตพลังงาน
  • ภาคการแพทย์และเวชภัณฑ์ เช่น บริษัทผลิตยา โรงพยาบาล 
  • อุตสาหกรรมโทรคมนาคม เช่น บริการโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต 

เทคนิคการเลือกหุ้น Defensive Stock

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจธุรกิจจากรายงานประจำปี โดยวิเคราะห์งบการเงินอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน และพิจารณาจากปัจจัยต่างๆเหล่านี้ 

เลือกจากขนาด 

  • หลีกเลี่ยงหุ้นที่มีขนาดเล็กเกินไป 
  • พิจารณาจากมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) เช่น Market Cap. ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท 
  • หุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50 หรือ SET100

ความผันผวนต่ำ

  • เวลาราคาขึ้นก็จะขึ้นน้อยกว่าตลาด 
  • เวลาราคาลงก็จะลงน้อยกว่าตลาด 
  • เป็นหุ้นที่มีความผันผวนของราคาเมื่อเทียบกับความผันผวนของดัชนีราคาหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่ำ

ภาระหนี้น้อย
เลือกหุ้นที่มีปริมาณหนี้สินไม่สูงกว่าทุน หรือมีอัตราส่วน D/E ต่ำกว่า 1 

กำไรสม่ำเสมอ

  • เป็นตัวบ่งชี้ถึงฝีมือของบริษัทในการบริหารจัดการ
  • กำไรอาจไม่หวือหวามากนัก
  • อาจพิจารณาบริษัทที่มีกำไรตลอด 10 ปีติดต่อกัน
  • จ่ายปันผลสม่ำเสมอ
  • สะท้อนการบริหารจัดการระหว่างการนำเงินไปลงทุน กับการจ่ายเงินปันผลได้อย่างเหมาะสม
  • อาจพิจารณาหุ้นที่จ่ายปันผล 10 ปีติดต่อกัน

ราคาไม่แพง

  • มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety : MOS) สูง
  • หุ้นที่ราคายังไม่แพงจนเกินไป
  • พิจารณากำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) เช่นไม่เกิน 15 เท่า
  • พิจารณาราคาเทียบกับมูลค่าทางบัญชี (P/BV Ratio) เช่น ไม่เกิน 1.5 เท่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

หุ้น Defensive Stock ที่หลบภัยของนักลงทุน

อย่างไรก็ตามหุ้น Defensive Stock มีจุดอ่อนคือ อาจมีผลตอบแทนอาจไม่สูงเท่าหุ้นเติบโต (Growth Stocks) ไม่ค่อยมีเรื่องราวการเติบโตที่จะนำมาเป็นจุดขายของหุ้น อาจได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว หุ้นกลุ่มนี้ก็มักจะทำผลตอบแทนได้ดีไม่เท่ากับหุ้นอื่นๆ