ตามรอยเส้นทางสายไหม ZTE ขยายบริการในปากีสถาน
ความใฝ่ฝันของจีน ตามนโยบายเส้นทางสายไหม หรือ One Belt One Road โครงการเส้นทางการค้าอภิมหาโปรเจคที่เชื่อมเมืองใหญ่ในทวีปเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เพื่อพัฒนาทางด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นถนน ท่าเรือ ทางรถไฟ ท่อส่งก๊าซและน้ำมัน หากประสบความสำเร็จจะผลักดันให้จีน ประเทศมหาอำนาจอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกามีอิทธิพลทั่วโลก เฉกเช่นเดียวกับบริษัทผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ของจีนอย่าง บริษัท แซดทีอี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ZTE Corporation) ที่มองเห็นโอกาสสำคัญในการขยายให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิตอลในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ทำให้นายซาน เซนฮุย รองประธานกรรมการบริหารบริษัทแซดทีอี เชื่อมั่นว่านโยบายเส้นทางสายไหมของรัฐบาลจีนจะช่วยขยายการเติบโตของบริษัทในต่างประเทศได้
ในปีนี้ แซดทีอี คอร์ปอเรชั่น บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่และระบบโทรคมนาคมสัญชาติจีน ได้เตรียมขยายความร่วมมือในประเทศปากีสถาน เพื่อรองรับการขยายการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิตอลออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศให้มากขึ้น
นายซาน กล่าวว่า ในปีนี้เป็นโอกาสของบริษัทในการสร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากไตรมาสแรก กำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 28% และนั้นจึงเป็นเหตุผลให้บริษัทจะทุ่มทุนเพิ่มในการพัฒนาเครือข่าย 5 จี ซึ่งคาดว่าจะให้บริการได้ ภายในปี 2563 เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำในเครือข่าย 5จี
บริษัทแซดทีซี เป็นบริษัทด้านโทรคมนาคมขนาดใหญ่ในจีนมานานกว่า 30 ปี ให้บริการมากกว่า 160 ประเทศทั่วโลก และสัดส่วนของรายได้บริษัทเกือบครึ่งหนึ่งมาจากตลาดในต่างประเทศ ขณะที่ปากีสถานถือเป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญของแซดทีอีมาเป็นเวลานาน โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมงานกับพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศ เพื่อสร้างและอัพเกรดเครือข่ายโทรคมนาคม 2จี 3จี และ 4จี
สำหรับประเทศปากีสถานเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของยุทศาสตร์เส้นทางสายไหม อย่างความเคลื่อนไหวล่าสุด คือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor :CPEC) ที่มีแผนการลงทุนมูลค่า 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น การเริ่มต้นที่แข็งแกร่งในปีนี้เป็นสัญญาณของการฟื้นตัวที่ดีของแซดทีอี หลังจากเมื่อเดือนมีนาคมของปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้คว่ำบาตรไม่ให้บริษัทสหรัฐฯ ทำธุรกิจกับแซดทีอี โดยอ้างว่าบริษัทจีนรายนี้แอบส่งสินค้าเทคโนโลยีสหรัฐฯ ไปยังประเทศอิหร่านและชาติอื่นๆ ส่งผลให้บริษัทสูญเสียรายได้ ราว 2.36 พันล้านหยวน อย่างไรก็ดี นายซานเชื่อว่านับจากนี้ไปเศรษฐกิจของทั้งจีนและสหรัฐฯ จะมีความแน่นแฟ้นกันมากขึ้น
ทั้งนี้ อ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมี (Oxford Economics) รายงานว่า ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมเป็นการลงทุนและเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 65 ประเทศ เพราะเป็นโครงการที่ครอบคลุม 60% ของประชากรโลก และ 1 ใน 3 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของทั้งโลกรวมกัน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,262 วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560