ถอดรหัสความสำเร็จ ดูงานยานยนต์ไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น (ตอน1)

02 ก.ค. 2560 | 00:27 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2560 | 07:27 น.
อุตสาหกรรมยานยนต์เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและจริงจัง และกำลังจะก้าวข้ามจากการเป็นศูนย์กลาง หรือ “ฮับ”การผลิตยานยนต์ของภูมิภาคอาเซียน ขยับชั้นขึ้นอีกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง และยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในกระบวนการมุ่งไปสู่เป้าหมายดังกล่าว นอกจากการสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐแล้ว ผู้ประกอบการเอกชนเองก็จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาของอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมทั้งการมองหาต้นแบบของความสำเร็จและความล้มเหลว เพื่อการเรียนรู้และนำมาปรับประยุกต์ใช้

[caption id="attachment_172374" align="aligncenter" width="503"] รถไฟฟ้าขนาดเล็กรุ่น COMS ของค่ายโตโยต้า นิยมใช้ในงานบริการดิลิเวอรี่ รถไฟฟ้าขนาดเล็กรุ่น COMS ของค่ายโตโยต้า นิยมใช้ในงานบริการดิลิเวอรี่[/caption]

และเมื่อพูดถึงต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ประเทศญี่ปุ่นนับเป็นหนึ่งในผู้นำระดับแนวหน้าของโลกที่มีการวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ามาเป็นเวลายาวนานกว่าทศวรรษ ปัจจุบัน มีรถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle : EV) วิ่งอยู่บนท้องถนนประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 165,500 คัน พร้อมด้วยสถานีหรือจุดบริการแท่นชาร์จไฟฟ้ากว่า 27,000 แห่ง กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือ เมติ แห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการให้ความอุดหนุนทางการเงิน (subsidy)ทั้งแก่ฝั่งบริษัทผู้ผลิตและผู้ซื้อรถ นอกจากนี้ ยังจัดสรรงบประมาณส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการสร้างมาตรฐานร่วมกันเพื่อให้ระบบยานยนต์ไฟฟ้าของญี่ปุ่นสามารถใช้ได้อย่างแพร่หลายทั่วโลก

นายสุอิโอะ อะชิฮาระ รองผู้อำนวยการกองยานยนต์ สำนักอุตสาหกรรมการผลิต กระทรวงเมติ เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นนั้น เกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการคือ ญี่ปุ่นต้องการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงปิโตรเลียมซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัวการก่อภาวะโลกร้อน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การปล่อยไอเสียจากภาคการขนส่งที่รวมทั้งยานยนต์ต่างๆรวมทั้งเรือ เป็นตัวก่อไอเสียถึง 17.2% ของทั้งหมด รัฐบาลญี่ปุ่นจึงตั้งเป้าหมายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี เพิ่มขึ้นให้เป็นสัดส่วน 20-30% ของยอดขายยานยนต์ทั้งหมดภายในปีค.ศ. 2030 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า นับเป็นเป้าที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากแม้ญี่ปุ่นจะมีพัฒนาการด้านรถอีวีมานานนับทศวรรษ แต่ยอดขายหรือสัดส่วนการใช้รถประเภทนี้บนท้องถนนยังมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดขายรวมรถทุกประเภท

[caption id="attachment_172373" align="aligncenter" width="503"] แท่นชาร์จไฟฟ้ารถอีวีจากหลากหลายผู้ผลิต แท่นชาร์จไฟฟ้ารถอีวีจากหลากหลายผู้ผลิต[/caption]

++อัดเงินอุดหนุนจูงใจผู้ผลิต-ผู้ใช้รถ
การสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้รถจัดทำโดยเมติพบว่า เหตุผลที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังไม่ยอมเปลี่ยนใจมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพราะมองว่าราคายังแพงเกินไป (50%) เหตุผลสำคัญอื่นๆ คือเห็นว่ารถไฟฟ้ายังวิ่งได้ระยะทางสั้นๆ จุดให้บริการชาร์จไฟก็ยังมีไม่ทั่วถึงและใช้เวลานาน ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมติจึงนำมาตรการให้เงินอุดหนุนการซื้อรถไฟฟ้ามาใช้เพื่อเป็นการจูงใจ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบชาร์จไฟ โดยมุ่งให้ต้นทุนลดลงและชาร์จไฟได้เร็วขึ้น เมติยังให้เงินอุดหนุนการติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าในสถานที่ต่างๆอีกด้วย
“การให้เงินอุดหนุนนั้นให้ผลค่อนข้างชัดเจน ในปีงบประมาณ 2017 เราตั้งงบส่วนนี้ (เงินอุดหนุนการซื้อรถอีวี)ไว้ 12,300 ล้านเยน ทุกๆมาตรการชัดเจนว่าเราต้องการแก้ไขปัญหาตรงจุดไหน” ผู้แทนเมติยกตัวอย่างประกอบว่า ในส่วนของผู้ใช้รถอีวีนั้น จะได้รับส่วนลดภาษีโดยรวมคิดเป็นมูลค่าราวๆ 5% ของราคารถ

ส่วนการแก้ไขปัญหารถวิ่งได้ระทางสั้นๆนั้น ทางกระทรวงเมติใช้มาตรการให้เงินอุดหนุนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่สามารถเพิ่มระยะทางวิ่งให้รถอีวี โดยให้เงินอุดหนุน 1,000 เยนต่อกิโลเมตร ยกตัวอย่างรถอีวีที่วิ่งได้ระยะทาง 280 กิโลเมตร (เมื่อชาร์จไฟเต็ม) จะได้รับเงินอุดหนุน 280,000 เยน/คัน เป็นต้น ส่วนผู้ผลิตรถไฮบริดจะได้รับเงินอุดหนุนอัตราคงที่ๆคันละ 200,000 เยน (โดยมีเงื่อนไขว่า รถต้องวิ่งได้ระยะทางอย่างน้อย 30 ก.ม.)

[caption id="attachment_172372" align="aligncenter" width="503"] หัวจ่ายไฟฟ้า หัวจ่ายไฟฟ้า[/caption]

และก็เช่นกัน ในส่วนของสถานีหรือจุดบริการชาร์จไฟ เมติเทงบให้ไปแล้วมากกว่า 55,000 ล้านเยน หรือประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้มีสถานีชาร์จไฟแล้วเกือบๆ 28,000 จุดทั่วประเทศ “จุดบริการชาร์จไฟหลายแห่งตั้งอยู่ตามสถานที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า ลานจอดรถ ซึ่งไม่สามารถคิดค่าไฟจากผู้ใช้บริการ แต่จะคิดเป็นค่าบริการจอดรถแทน” นอกจากนี้ ในด้านการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะการวิจัยเพิ่มสมรรถนะของแบตเตอรี่ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรถอีวี และการพัฒนาระบบชาร์จไฟให้เร็วขึ้น เมติจับมือกับอีกหน่วยงานภายใต้ชื่อ JARI (จาริ) รวมทั้งบริษัทเอกชน ซึ่งเราจะตามไปเยี่ยมชมกันในตอนต่อไป

ฉบับหน้า เตรียมพบกับบริษัทรถยนต์และภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมรถอีวีของญี่ปุ่น ที่นอกจากจะได้แรงหนุนจากภาครัฐแล้ว ยังเดินหน้าวิจัย-พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองกันอย่างคึกคัก พร้อมส่งทัพยานยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่างๆสู่ตลาดโลก รวมทั้งการเข้ามาตั้งโรงงานในไทย จะเป็นรายใดบ้าง โปรดติดตาม

หมายเหตุ : โครงการศึกษาดูงานด้านยานยนต์ไฟฟ้า ณ ประเทศญี่ปุ่น นำโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมด้วยคณะนักวิจัยและตัวแทนผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมยานยนต์ มีขึ้นระหว่างวันที่ 19-24 มิถุนายน 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,275 วันที่ 2 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560