เบื้องหลังถอนสมอ “เวสเตอร์ดัม” ไม่ให้จอดแหลมฉบัง

11 ก.พ. 2563 | 09:09 น.

“จบแล้วครับนาย” ต้องขอยืมคำนี้มาใช้กับปิดกระแสข่าว เรือสำราญ "เวสเตอร์ดัม"  ที่ 3 ประเทศ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ปฏิเสธไม่ให้เทียบท่าแหลมฉบัง  

 

หลังจากเมื่อวานนี้ (10ก.พ.63)  ทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการของ Holland America Line ของ บริษัท ฮอลแลนด์ อเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าของ เรือ เวสเตอร์ดัม (Westerdam) เรือสำราญขนาดใหญ่ เผยแพร่ข่าว โดยมีสื่อใหญ่ CNN หยิบไปตีข่าว ว่า เตรียมนำเรือพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือกว่า 2,200 คน มาเทียบท่าที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ในวันพฤหัสบดีที่ 13 ก.พ.นี้  หลังต้องลอยลำกลางทะเล เพราะถูกปฏิเสธเข้าเทียบท่าใน 3 ประเทศ/ดินแดน   โดยอ้างยืนยันว่าไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แม้แต่รายเดียว ผู้โดยสารจะลงเรือที่แหลมฉบัง จากนั้น เดินทางเข้าไปกรุงเทพ เพื่อขึ้นเครื่องบินกลับบ้านต่อไป 

เบื้องหลังถอนสมอ “เวสเตอร์ดัม” ไม่ให้จอดแหลมฉบัง

ทันทีที่ข่าวนี้เผยแพร่ ใน “ฐานเศรษฐกิจ” และสื่อของไทย มีประชาชนมาแสดงความคิดเห็นค้านเป็นส่วนใหญ่  ทำให้เสี่ยหนู “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นทั้งรมว.สาธารณสุข และกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ถึงกับต้องสั่งการผ่านทางเฟซบุกทันทีว่าไม่อนุญาตให้เรือสำราญนี้เข้าเทียบแหลมฉบัง ถัดจากนั้นเรียกได้ว่าทุกคนในรัฐบาลออกมายืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่อนุญาตให้เรือลำนี้เข้าเทียบท่าได้

เบื้องหลังถอนสมอ “เวสเตอร์ดัม” ไม่ให้จอดแหลมฉบัง

อย่างเช่น  “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี” ตอบสั้นๆว่า “ ก็ไม่ให้เข้าตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข บอกก่อนหน้านี้“

เบื้องหลังถอนสมอ “เวสเตอร์ดัม” ไม่ให้จอดแหลมฉบัง

ส่วน นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม  ในฐานะกำกับดูแลกรมเจ้าท่า บอกว่า  ทางตัวแทนเรือดังกล่าวได้มีการประสานงานมายัง กรมเจ้าท่า เมื่อวานนี้ (10ก.พ.) ที่ผ่านมาจริง เพื่อขออนุญาตที่จะเข้ามาจอดเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้นทางกรมเจ้าท่า และ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีการประสานงานและประชุมร่วมกัน รวมถึงได้มีการประสานงานประชุมทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรียบร้อยแล้ว 

“ยืนยันว่าจะไม่ให้เรือดังกล่าวเข้ามาเทียบท่าเรือในเขตประเทศไทยอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันได้แจ้งไปยังผู้ประสานงานของเรือดังกล่าวว่าประเทศไทยไม่อนุญาตให้เรือดังกล่าวเข้ามาเทียบท่าแน่นอน”

รมช.คมนาคม บอกอีกว่า เพื่อให้การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคสามารถดำเนินการได้อย่างเคร่งครัด เนื่องจากเมื่อมีกระแสข่าวผ่านสื่อโชเชียลมีเดียทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก และการเผยแพร่ข่าวดังกล่าวว่าเรือจะเข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังก็เกิดจากบริษัทเรือ และ ตัวแทนที่มาประสานงานโพสต์ข้อความ ประชาสัมพันธ์ ออกไป ในขณะที่ทางกรมเจ้าท่าที่มีหน้าที่ในการออกใบอนุญาตไม่ได้ มีการอนุญาตและตอบปฏิเสธออกไป

“ถ้าเราอนุญาตให้เข้ามาก็จะสร้างความไม่สบายใจให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทยหลายคน ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตัดสินใจลำบาก และละเอียดอ่อน ถ้าเรา มองในแง่ของมนุษยธรรม ใจเขาใจเรา  ถ้าเป็นเรือของไทย ไปเจอเหตุการณ์เช่นนี้บ้าง เราก็ รู้สึกลำบากใจ แต่ สุดท้ายก็ต้องตัดสินใจ เพื่อ รักษาผลประโยชน์ประโยชน์ของประชาชนและความมั่นคงของประเทศจึงจำเป็นต้องตัดสินใจเช่นนี้”

ส่วนบรรยากาศในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันนี้ นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.มีการหารือกรณีทีมีกระแสข่าวว่าเรือสำราญเวสเตอร์ดัม จะเทียบท่าที่แหลมฉบังเช่นเดียวกัน  โดยอธิบดีกรมเจ้าท่ารายงานว่าไม่เคยมีการติดต่อเพื่อขอเทียบท่าเข้ามาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด 

เบื้องหลังถอนสมอ “เวสเตอร์ดัม” ไม่ให้จอดแหลมฉบัง

“อธิบดีกรมเจ้าท่าก็ออกมาชี้แจงให้ข่าวว่าจริงแล้วเรือลำนี้ไม่ได้ขออนุญาตจะมาจอดในไทยตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่เหตุที่ข่าวออกมาอาจจะเป็นเพราะทางเรือได้ติดต่อเอเจนซี่ที่เป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่เอเจนซี่ก็ไม่ได้ติดต่อมาที่กรมเจ้าท่า แต่เมื่อมีการติดต่อกับทางเอเจนซี่ ทางเรือก็จึงนำข้อมูลไปลงในเว็บไซต์ของเรือ ทางโซเชียลมีเดียเห็นจึงนำมาเป็นกระแสอธิบดีกรมเจ้าท่ายืนยันว่าไม่ได้มีกระบวนการร้องขออนุญาตนำเรือเข้ามาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” 

นอกจากนี้ในที่ประชุมครม.มีการพูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งพลเอกประยุทธ์ บอกว่าต่อให้มีการขออนุญาตเข้ามาจริงก็ชัดเจนว่าไม่อนุญาตเข้ามาจอด แต่จะช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมอื่นๆถ้ามีการร้องรอเข้ามา อย่างเช่น เรือ ยารักษาโรค น้ำมันสำหรับเรือ อาหาร ทางฝ่ายไทยก็พร้อมช่วยเหลือ”