สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาต้า (International Air Transport Association: IATA) ในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์อุตสาหกรรมการบินโลกว่าภายในสิ้นปีนี้ (2563) น่าจะมีภาระหนี้โดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 550,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 120,000 ล้านดอลลาร์ (3.84 ล้านล้านบาท) เมื่อเทียบกับเมื่อช่วงต้นปี หรือคิดเป็นอัตราเพิ่ม 28%
ไออาต้าให้รายละเอียดว่า หนี้ใหม่ 67,000 ล้านดอลลาร์นั้นจะประกอบด้วยหนี้เงินกู้จากรัฐบาล (50,000 ล้านดอลลาร์) หนี้สินในรูปภาษีเงินได้รอตัดบัญชี หรือ deferred taxes (5,000 ล้านดอลลาร์) และการค้ำประกันเงินกู้ (12,000 ล้านดอลลาร์) นอกจากนี้ หนี้อีก 52,000 ล้านดอลลาร์จะมาจากภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงเงินกู้จากแหล่งเงินภาคเอกชน (23,000 ล้านดอลลาร์) และหนี้จากการระดมทุนในตลาดทุน (18,000 ล้านดอลลาร์) เป็นต้น
“ความช่วยเหลือจากภาครัฐจะช่วยให้อุตสาหกรรมการบินอยู่รอดต่อไปได้ แต่ความท้าทายที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ก็คือ ทำอย่างไรบรรดาสายการบินจึงจะอยู่รอดโดยไม่จมดิ่งลงในกองหนี้ก้อนมหึมาที่เกิดขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือนี้” นายอเล็กซานเดอร์ เดอ จูนิแอคซ์ ผู้อำนวยการใหญ่ของไออาต้ากล่าว และว่า ก่อนจะถึงสิ้นปี 2563 หนี้ในอุตสาหกรรมการบินโลกจะพุ่งขึ้น 28% สู่ระดับที่ใกล้จะแตะ 550,000 ล้านดอลลาร์
อ่านเพิ่มเติม การบินโลกอ่วมยาว รอฟ้าใสอย่างน้อยอีก 3 ปี
โดยภาพรวมแล้ว ขณะนี้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สายการบินคิดเป็นวงเงินรวม 123,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้ 67,000 ล้านดอลลาร์เป็นเงินที่สายการบินต้องชำระคืน ส่วนที่เหลือเป็นเงินอุดหนุนการจ่ายเงินเดือนพนักงาน (34,800 ล้านดอลลาร์) การระดมทุนโดยการออกหุ้นเพิ่ม (11,500 ล้านดอลลาร์) และการให้ความช่วยเหลือในรูปการลดหย่อนภาษี/การอุดหนุนทางการเงิน (9,700 ล้านดอลลาร์) ความช่วยเหลือเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากคาดว่าสายการบินมีความต้องการใช้เงินสดโดยรวมราว 60,000 ล้านดอลลาร์ภายในช่วงไตรมาสที่2 ของปีนี้
ไออาต้าระบุว่า กว่าครึ่งของแพ็คเกจความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะก่อให้เกิดหนี้ใหม่แก่บรรดาสายการบิน มีไม่ถึง 10% ของเงินช่วยเหลือที่จะช่วยให้สายการบินมีเงินทุนเพิ่มขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ภาพรวมด้านการเงินของอุตสาหกรรมการบินเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง การที่สายการบินต้องชำระหนี้คืนให้รัฐบาลรวมทั้งเจ้าหนี้ภาคเอกชน หมายความว่าภาวะวิกฤติของอุตสาหกรรมการบินจะกินเวลายาวนานยิ่งกว่าเวลาที่ต้องใช้ในการเรียกอุปสงค์(ความต้องการเดินทาง)ของผู้โดยสารกลับคืนมา
“ในบางกรณีที่รัฐบาลมัวชักช้า รับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เร็วพอ หรือมีเงินทุนจำกัด เราจึงได้เห็นการล้มละลายของสายการบิน” นายเดอ จูนิแอคซ์ กล่าว โดยยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย อิตาลี ไทย ตุรกี และอังกฤษ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Airline Debt to Balloon by 28% -Heavy New Debt Levels Will Weigh Down Recovery