“เอดีบี” คาด เศรษฐกิจไทย ปีนี้จะหดตัว 6.5% ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะมีการเติบโตไม่มากนัก คือโตเพียง 0.1% ในปี 2563 เนื่องจากมาตรการควบคุมต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดการชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทำให้ความต้องการจากภายนอกลดลง
รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย (Asian Development Outlook: ADO) ประจำปี 2563 ฉบับเพิ่มเติมล่าสุด (Supplement) ของ ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ที่เผยแพร่ในวันนี้ (18 มิ.ย.) ระบุว่า เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน คาดว่าจะหดตัวที่อัตรา 2.7% ในปีนี้ ก่อนที่จะกลับมาเติบโตในอัตรา 5.2% ในปี 2564 โดยการหดตัวดังกล่าวเกิดจากประเทศเศรษฐกิจหลักในอนุภูมิภาคได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมโรคระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ
ทั้งนี้ เอดีบีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะหดตัวที่อัตรา 1.0% ฟิลิปปินส์จะหดตัวที่อัตรา 3.8% และ ไทยจะหดตัวที่อัตรา 6.5% ในขณะที่เวียดนามคาดการณ์ว่า จะยังคงมีการเติบโตที่ 4.1% ในปีนี้ (2563) ซึ่งเป็นการปรับลดลงเล็กน้อยจากที่เอดีบีเคยคาดการณ์ไว้ครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน แต่ถึงกระนั้น ก็ถือว่ายังคงเป็นอัตราการเติบโตที่มากที่สุดในบรรดาประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในภาพรวม จะเติบโตเพียง 0.1% ในปีนี้ ซึ่งลดลงจากที่เอดีบีเคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.2% เมื่อเดือนเมษายน และตัวเลขนี้คาดว่าจะเป็นการเติบโตที่ช้าที่สุดสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ส่วนแนวโน้มในปีหน้า ( 2564) คาดว่าเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอัตรา 6.2% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน
อ่านเพิ่มเติม คาดการณ์ของเอดีบีเมื่อเดือนเม.ย.2563 เอดีบีคาดพิษโควิดทุบศก.ไทยลบ 4.8%
ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ที่ไม่รวมฮ่องกง จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไทเป คาดว่าจะเติบโตที่อัตรา 0.4% ในปีนี้และ6.6% ในปีหน้า (2564)
“เศรษฐกิจในเอเชียและแปซิฟิกจะยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในปีนี้ แม้ว่าการปลดล็อกจะค่อยๆ คลี่คลายและมีการผ่อนปรนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบ ‘ปกติใหม่’ (New Normal)" นายยาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอดีบีกล่าวและว่า “ในขณะที่เราเห็นแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นสำหรับภูมิภาคในปี 2564 แต่นั่นเป็นเพราะตัวเลขที่อ่อนแอในปีนี้ และจะไม่ใช่การฟื้นตัวในรูปแบบตัววี (V-shaped recovery) รัฐบาลควรดำเนินมาตรการเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบเชิงลบของโควิด-19 และทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดของโรคระลอกใหม่”
ทั้งนี้ แนวโน้มทางเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงขาลงจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นหลายระลอกในช่วงเวลาที่กำลังจะมาถึง บวกกับหนี้รัฐบาลและวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการเพิ่มระดับความตึงเครียดทางการค้าที่เกิดขึ้นใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอีกด้วย
เอดีบียังคาดการณ์ว่า เอเชียตะวันออกจะเติบโต1.3% ในปี 2563 และจะเป็นอนุภูมิภาคเดียวที่ยังมีการเติบโตในปีนี้ ในขณะที่การเติบโตในปี 2564 คาดว่าจะฟื้นตัวอยู่ที่อัตรา 6.8% การเติบโตของจีนคาดว่าจะอยู่ที่อัตรา 1.8% ในปีนี้และ 7.4% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับประมาณการเมื่อเดือนเมษายนที่คาดไว้ 2.3% และ 7.3% ตามลำดับ
ส่วนเศรษฐกิจของเอเชียใต้คาดว่าจะหดตัว 3.0% เมื่อเทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะโต 4.1% ในเดือนเมษายน เนื่องจากมีการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอนุภูมิภาค ส่วนแนวโน้มการเติบโตในปี 2564 ถูกปรับลดลงเหลือ 4.9% จาก 6.0% เศรษฐกิจของอินเดียคาดว่าจะหดตัว 4.0% ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 2564 ก่อนจะกลับมาเติบโตที่ 5.0% ในปีงบประมาณถัดไป
สำหรับเศรษฐกิจของเอเชียกลางคาดว่าจะหดตัว 0.5% เมื่อเทียบกับการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่คิดว่าจะโต 2.8% เนื่องจากการหยุดชะงักทางการค้าและการตกต่ำของราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม การเติบโตคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวที่ 4.2% ในปี 2564
เอดีบีคาดหมายอัตราเงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียปีนี้ว่าจะอยู่ที่อัตรา 2.9% ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 3.2% ในเดือนเม.ย. ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์และราคาน้ำมันที่ลดลง ส่วนในปี 2564 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 2.4%
ข้อมูลอ้างอิง
Asian Development Outlook 2020 Supplement ฉบับเพิ่มเติมล่าสุด(มิ.ย.2063)
Developing Asia to Grow Just 0.1% in 2020 — ADB