นวัตกรรมเกี่ยวกับหน้ากากอนามัย ของ ญี่ปุ่น นั้นกำลังเป็นที่เลื่องลือ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 มิ.ย.) มีข่าวชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไปยืนเข้าคิวยาวเหยียดหน้าร้าน “ยูนิโคล่” (Uniqlo) เพื่อรอซื้อหน้ากากอนามัยรุ่นแอริซึ่ม (AIRism) แม้ว่าจะมีฝนตกเทลงมา เนื่องจากพวกเขาต้องการครอบครองหน้ากากที่ตัดเย็บด้วย นวัตกรรมผ้าเนื้อพิเศษ ที่แห้งเร็ว ระบายอากาศได้ไว ซึ่งเป็นผ้าที่มีชื่อเรียกเดียวกันกับชื่อรุ่นของหน้ากากนั่นเอง
ส่วนการจำหน่ายทางออนไลน์ก็มีผลตอบรับที่ดีอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเช่นกัน ถึงขนาดทำให้เว็บไซต์ของยูนิโคล่ล่ม และสินค้าก็ถูกจำหน่ายหมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่วางขาย ทั้งนี้ หน้ากากอนามัยแอริซึ่ม ของยูนิโคล่ทำจากผ้า 3 ชั้นที่มีเส้นใยพิเศษ พร้อมกับแผ่นกรองอากาศ ผู้ใช้สามารถนำไปซักเพื่อนำมาใช้ใหม่ได้ถึง 20 ครั้ง การจำหน่ายของยูนิโคล่บรรจุแพ็คละ 3 ชิ้น ราคา 990 เยน หรือราว 300 บาท มี 3 ขนาดให้เลือก บริษัทตั้งเป้าเร่งการผลิตสู่ระดับ 500,000 แพ็ค/สัปดาห์ และมีแผนจะวางขายในต่างประเทศด้วย
ปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับ “ยูนิโคล่” เท่านั้น แต่ผู้ผลิตหน้ากากของญี่ปุ่นรายอื่น ๆ ที่นำ นวัตกรรมเส้นใย หรือ นวัตกรรมสิ่งทอ มาผลิตสินค้าตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังหวาดวิตกเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ก็ได้รับการตอบรับที่อบอุ่นจากลูกค้าและทำยอดขายได้ดีมากเช่นกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง เกลี้ยงแล้ว ชาวญี่ปุ่นแห่ซื้อหน้ากาก"ยูนิโคล่"จนเว็บไซต์ล่ม
มิซูโน่ (Mizuno) ผู้ผลิตชุดกีฬาและชุดว่ายน้ำรายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น แหวกความจำเจของหน้ากากอนามัยแบบเดิม ๆ ที่มักจะดูใหญ่และไม่เข้ารูปกับใบหน้าและบางครั้งก็มักจะเลื่อนหลุดลงมาขณะผู้ใช้ขยับปากพูด ด้วยการนำผ้ายืดที่ปกติจะใช้สำหรับการตัดเย็บชุดว่ายน้ำมาใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย ทำให้มีความยืดหยุ่นได้ดีและเข้ารูปกับสรีระของใบหน้า
หลังจากที่วางจำหน่ายครั้งแรกทางเว็บไซต์ของบริษัทเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าผลตอบรับเนืองแน่นถึงกับทำให้เว็บไซต์ของบริษัทล่ม มิซูโน่เพิ่งกลับมาเปิดรับออร์เดอร์อีกครั้งเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 มิ.ย.) พร้อม ๆ กับการวางตลาดของหน้ากากอนามัยแอริซึ่มของยูนิโคล่
หน้ากากของมิซูโนมีออกมาให้เลือก 24 แบบหลากสีสัน ทุกชิ้นมีโลโก้ของบริษัท และคุณสมบัติพิเศษของเนื้อผ้า “ไอซ์ ทัช” (Ice Touch) นั่นคือความสามารถในการระบายความร้อนและความชื้น (จากเหงื่อและลมหายใจ) จึงทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกเย็นสบายและเหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นในช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่น เนื้อผ้าดังกล่าวนี้ใช้ในการผลิตชุดว่ายน้ำและชุดกีฬาของมิซูโน่มาเนิ่นนานแล้ว
บริษัทตั้งเป้าทำยอดจำหน่ายหน้ากากในการเปิดขายรอบสองนี้ที่ 870,000 ชิ้น เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 50,000 ชิ้น สนนราคาเริ่มต้นที่ชิ้นละ 935 เยน (ประมาณ 275 บาท) หรือราว ๆ 8.72 ดอลลาร์สำหรับรุ่นธรรมดา และชิ้นละ 1,320 เยน สำหรับแบบเนื้อผ้าเย็นสบาย การวางจำหน่ายจะมีถึงวันที่ 29 มิ.ย.นี้
อีกรายคือ บริษัท ชาร์ป (Sharp) ที่เรารู้จักกันดีในฐานะผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน แต่หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในญี่ปุ่น บริษัทก็หันมาเพิ่มไลน์การผลิตหน้ากากอนามัยในเดือนมี.ค. และเริ่มจำหน่ายทางออนไลน์ในเดือนเม.ย. ผลตอบรับดีเกินคาดทำให้เว็บไซต์ของบริษัทล่มเช่นกัน โดยบริษัทตั้งเงื่อนไขรับออร์เดอร์ได้เพียงวันละ 3,000 กล่องเท่านั้น (บรรจุจำหน่ายกล่องละ 50 ชิ้น ในราคา 2,980 เยน หรือประมาณ 876 บาท) หน้ากากของชาร์ปไม่ได้เน้นความพิเศษของเนื้อผ้า แต่เน้นมาตรฐานการผลิตที่สะอาดในระดับสูงสุดเพราะบริษัทเปิดไลน์การผลิตในห้องที่เคยใช้ในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องเข้มงวดระดับสูงเรื่องความสะอาด-ปราศจากสิ่งปนเปื้อน
บริษัทมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตจากวันละ 1.5 แสนชิ้นเป็นวันละ 5 แสนชิ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และสนองนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่คาดหวังให้การผลิตหน้ากากอนามัยภายในประเทศ เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นสู่ระดับ 600 ล้านชิ้นต่อเดือนเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา
ปัจจุบัน ผู้นำในตลาดหน้ากากอนามัยของญี่ปุ่นในแง่ส่วนแบ่งตลาดและกำลังการผลิตคือ บริษัท ยูนิชาร์ม ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทมีกำลังการผลิตที่ 20 ล้านชิ้น/สัปดาห์ แต่หลังจากที่มีการแพร่ระบาด บริษัทก็เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 100 ล้านชิ้น/สัปดาห์ โดยประมาณ
ในแง่ของนวัตกรรมและคุณสมบัติโดดเด่นของหน้ากากอนามัยจากญี่ปุ่นนั้น ยังได้รับแรงสนับสนุนจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วย ยกตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆนี้ บริษัทมุราตะ (Murata) และบริษัท เทจิน (Teijin) ของญี่ปุ่นได้ร่วมกันพัฒนาผ้าผืน “พีซเล็กซ์” (Pieclex) ที่สามารถขจัดเชื้อแบคทีเรียได้ และด้วยเหตุนี้จึงช่วยขจัดกลิ่นบนผ้าด้วย
ผืนผ้าดังกล่าวเมื่อผู้สวมใส่ขยับตัวเคลื่อนไหวไปมา มันก็จะปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ออกมาฆ่าเชื้อโรค ดังนั้น บริษัทจึงคาดหมายจะผลิตผ้าผืนที่มีคุณสมบัติพิเศษนี้ออกมาเพื่อนำไปใช้ในการผลิตเสื้อผ้า หน้ากากอนามัย รวมถึงผ้าอ้อมเด็ก
ข้อมูลอ้างอิง