สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต./ทูตพาณิชย์) ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลสื่อของเวียดนามว่า ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (MARD) ระบุว่า การขยายพันธุ์สุกรอย่างมีประสิทธิภาพและการนำเข้าสุกร แช่แข็งและสุกรมีชีวิตเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสุกรมีชีวิตในเวียดนามลดลง
ตามรายงานของกระทรวงเกี่ยวกับอุปทานเนื้อสุกรที่ส่งถึงรัฐบาล กระทรวงฯ คาดการณ์ว่า เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 3 อุปทานเนื้อสุกรจะเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรในประเทศมีเสถียรภาพ
ขณะนี้เวียดนามได้อนุญาตให้บริษัทต่างชาติ 24 ประเทศ ส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ปีกไปยังเวียดนามได้(้เวียดนามมีโรคอหิวาต์ระบาดในหมู ทำให้ผลผลิตเสียหายมาก) ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 800 บริษัท จาก 19 ประเทศสามารถส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสุกรไปยังเวียดนามได้
ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 เวียดนามนำเข้าเนื้อสุกรมากกว่า 93,248 ตัน ส่วนใหญ่มาจากแคนาดา เยอรมนีโปแลนด์ บราซิล สหรัฐอเมริกา สเปน และรัสเซีย โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 223 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562
กระทรวงฯ อนุญาตให้มีการนำเข้าสุกรมีชีวิตจากประเทศไทย เพื่อชำแหละเป็นอาหาร ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2563 ซึ่ง ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2563 พบว่ามีสถานประกอบการของเวียดนามประมาณ 36 แห่งที่จดทะเบียนสำหรับการกักกันสุกรมีชีวิตกว่า 4.7 ล้านตัวนำเข้าจากไทย โดยจำนวนนี้รวมทั้งสุกรมีชีวิต 75,334 ตัว สำหรับการชำแหละ(ที่เหลือเป็นลูกหมูเพื่อการเลี้ยง)
นาย Phung Duc Tien รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทได้กล่าวว่า เวียดนามไม่ได้กำหนดโควต้า สำหรับการนำเข้าสุกรมีชีวิตและเนื้อสุกร และข้อกำหนดของกรมสุขภาพสัตว์เอื้อต่อการนำเข้าเนื้อสุกร อย่างไรก็ตามการนำเข้าเนื้อ สุกรต้องเผชิญกับปัญหา เนื่องจากโรคอหิวาต์แอฟริกาทำให้ผลผลิตสุกรทั่วโลกลดลงร้อยละ 12 โดยเฉพาะในประเทศจีน จำนวนสุกรทั้งหมดลดลงมากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากโรคอหิวาต์แอฟริกาทำให้จีนนำเข้าเนื้อสุกรในราคาสูงเป็นเวลา 3-5 เดือน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าเนื้อสุกรของเวียดนาม
หนังสือพิมพ์ Hai quan รายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาสุกรมีชีวิตทั่วประเทศลดลงในแต่ละวัน โดยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ราคาสุกรมีชีวิตลดลง 1,000-4,000 ด่องต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า ทำให้มีราคาเป็น 79,000-86,000 ด่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสุกรมีชีวิตในภาคเหนืออยู่ระหว่าง 80,000 - 86,000 ด่องต่อกิโลกรัม ราคาในภาคกลางและที่ราบสูง ตอนกลางมีเสถียรภาพตั้งแต่ 79,000 - 85,000 ด่องต่อกิโลกรัมในขณะที่ในภาคใต้ราคาอยู่ระหว่าง 80,000 - 86,000 ด่องต่อกิโลกรัม
ตามข้อมูลของกระทรวงระบุว่า ปัจจุบันต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 71,000 ด่องต่อกิโลกรัม หากผู้เลี้ยงมีการซื้อลูกสุกรเพื่อการผลิต และจะมีต้นทุน 50,000 ด่องต่อกิโลกรัม หากมีการสร้างห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การเลี้ยงลูกสุกรจนถึงการผลิตสุกร
กระทรวงฯ และหน่วยงานต่าง ๆ จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 และโรคอหิวาต์ แอฟริกาและจะมีการผสมพันธุ์สุกร เพื่อให้มีเนื้อสุกรเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ
ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 ผู้นำเข้าเวียดนามขึ้นทะเบียนนำเข้าสุกรสำหรับการชำแหละจำนวนถึง 4.87 ล้านตัว ซึ่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปี2562 อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ในประเทศคาดว่า จะผลิตสุกรได้ 5.17 ล้านตัวภายในสิ้นไตรมาส ที่ 3 และ 5.36 ล้านตัวในไตรมาสที่ 4 คิดเป็นประมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 68 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี2563
สคต. ณ กรุงฮานอย ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 เวียดนามมีการนำเข้าสุกรพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 8,000 ตัว และมีแผนนำเข้าอีกกว่า 100,000 ตัวใน 1 ปี ข้างหน้า ความพยายามนำเข้าสุกรเพิ่มมากขึ้น เกิดจากความต้องการเนื้อสุกรในท้องตลาด โดยคาดว่าภายในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ถึง ต้นไตรมาสที่ 4 ของปี2563 จะมีการนำเข้าเนื้อสุกรอีกไม่น้อยกว่า 100,000 ตัน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี2563 เวียดนามนำเข้าเนื้อสุกรมากกว่า 93,248 ตัน ซึ่งราคาใน 5 เดือนแรกประมาณ 200,000 ด่องต่อกิโลกรัมหรือประมาณ 267 บาท ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ราคาสุกรมีชีวิตลดลง 1,000-4,000 ด่องต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า โดยมีราคาประมาณ 76,000-81,000 ด่อง
ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ผู้นำเข้าเวียดนามขึ้นทะเบียนนำเข้าสุกรมีชีวิตมากกว่า 4.7 ล้านตัวจากไทย ซึ่งรวมทั้งสุกรมีชีวิต 75,334 ตัวสำหรับการชำแหละ จึงเป็นโอกาสในการส่งออกสุกร ของผู้ประกอบการในประเทศไทยไปยังเวียดนามในช่วงนี้อย่างไรก็ ตาม เมื่อปริมาณเนื้อหมูในประเทศเริ่มเพียงพอกับความต้องการอาจทำให้เวียดนามลดการนำเข้าสุกรมีชีวิตจากประเทศไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง