สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. /ทูตพาณิชย์) ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา รายงานว่า สหราชอาณาจักร(ยูเค/อังกฤษ)ได้อนุมัติสิทธิพิเศษทางการค้า Generalized System of Preferences (GSP) ให้กับกัมพูชา ส่งผลให้กัมพูชาสามารถส่งออกสินค้าต่าง ๆ ยกเว้นอาวุธ ไปยังสหราชอาณาจักรได้ โดยจะได้รับการยกเว้นภาษี และยกเว้นการกำหนดโควตา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป
นาย Kaing Monika รองเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มในกัมพูชา (GMAC) และ Oknha Lim Heng รอง ประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวว่า นี่เป็นโอกาสที่ดีของกัมพูชาในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ รองเท้า จักรยาน และข้าว ให้กลับมาฟื้นตัวมากขึ้น หลักจากที่สินค้าในกลุ่มดังกล่าว ถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ everything but arms : EBA จากสหภาพยุโรปไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา สิทธิพิเศษทางการค้าที่ได้รับจากสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ จะสามารถช่วยรักษานักลงทุนรายเดิมให้ยังคงตั้งฐานการผลิตในกัมพูชาต่อไป รวมถึงดึงดูดให้นักลงทุนรายใหม่ ๆ ขยายฐานการผลิตเข้ามาในกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อียูตัดสิทธิ-โควิดทุบ ฐานผลิตกัมพูชาสลบ บิ๊กการ์เมนต์ไทยกัดฟันสู้
นาย Sok Sopheak รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา เผยว่า กัมพูชาอยู่ระหว่างการหารือกับสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับรายละเอียดและกระบวนการต่าง ๆ ในการนำเข้าและส่งออกภายใต้สิทธิพิเศษฯ ดังกล่าว
สำหรับสหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าสำคัญที่นำเข้าสินค้าจากกัมพูชามากเป็นอันดับสองในสหภาพยุโรป (อียู)รอง จากเยอรมนี โดยการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหราชอาณาจักรในปี 2562 ที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็น การค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ คิดเป็นมูลค่า 190 ล้านดอลลาร์หรัฐฯ
สคต. ณ กรุงพนมเปญ ให้ความเห็นว่า สหภาพยุโรปถือเป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้ารายใหญ่สุดของกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วน 40% ของปริมาณการค้ากับต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาถูกพิจาราณาเพิกถอนสิทธิประโยชน์ของกัมพูชาที่เข้าถึงตลาดการค้า ของสหภาพยุโรปโดยได้รับการยกเว้นจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทยกเว้นอาวุธ (everything but arms : EBA) แล้ว ซึ่งส่งผลทำให้สินค้าจากกัมพูชาจะต้องจ่ายภาษีนำเข้าให้กับสหภาพยุโรป โดยประเมินว่าเสื้อผ้าและรองเท้าอาจจะถูกเก็บภาษีตั้งแต่ 10-25% ดังนั้นการที่กัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากสหราชอาณาจักร จะช่วยส่งผลทางบวกในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ในอนาคต
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์)ไทย เผยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการการ์เมนต์รายใหญ่ของไทยไปลงทุนในกัมพูชาหลายราย ได้แก่ ไนซ์กรุ๊ป,ฮงเส็งกรุ๊ป, ไฮ-เทค,เอส.พี.บราเดอร์,แทร็กซ์,ลิมไลน์ และไพลอต นิท สปอร์ต แวร์ เป็นต้น ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาฐานผลิตในกัมพูชา นอกจากได้รับผลกระทบจากที่อียูถอนสิทธิ EBA แล้ว ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การส่งออกลดลง การที่กัมพูชาได้รับสิทธิ GSP จากสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดสำคัญในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และจะช่วยกระตุ้นยอดส่งออกในปีหน้า รวมถึงช่วยลดผลกระทบจากอียูถอนสิทธิ EBA ได้ระดับหนึ่ง