นักฟุตบอลยูโร 2020 กับ "วัคซีนโควิด-19" และผู้ชมในสนาม

13 มิ.ย. 2564 | 19:10 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2564 | 19:49 น.

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การแข่งขัน“ฟุตบอลยูโร2020” เลื่อนการจัดในปี 2020 มาเป็นปีนี้ ซึ่งทางยูฟ่า (สหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป) ผู้จัด ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนไว้อย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ในศึก ฟุตบอลยูโร 2020 เป็นที่สังเกตว่า วัคซีนโควิดแบบฉีดเข็มเดียวจบ ของ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (J&J) เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากกว่าโดยเฉพาะใน บริบทที่เวลามีจำกัด อย่างน้อย 2 ทีมชาติ คือ สเปน และเบลเยี่ยม ให้คำตอบที่เหมือนกันคือ พวกเขาเชื่อว่าหลังจากฉีดวัคซีนแล้วจะมีอาการข้างเคียงตามมา การลงสนามทั้งที่มีอาการข้างเคียงอย่างใดอย่างหนึ่งน่าจะบั่นทอนศักยภาพของนักเตะไม่มากก็น้อย

หลุยส์ เอ็นริเก้ กุนซือของทีมกระทิงดุ ยอมรับว่า ถ้าเลือกได้ก็คงฉีดวัคซีนให้นักเตะเร็วกว่านี้ แต่เมื่อจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกันแบบจวนเจียน เวลาเหลือน้อยเต็มที (นัดแรกของสเปนซึ่งอยู่กลุ่ม E จะพบกับทีมชาติสวีเดนที่เมืองเซบีญา ประเทศสเปน วันจันทร์ที่ 14 มิ.ย.เวลาท้องถิ่น 21.00 น.ซึ่งตรงกับเวลาไทยวันอังคารที่ 15 มิ.ย. เวลา 02.00 น.) ทางทีมก็ขอเลือกฉีดวัคซีนจอห์นสันฯ แบบเข็มเดียวจบ

นักเตะทีมกระทิงดุฉีดวัคซีนจอห์นสันฯ

ยูฟ่านั้นขอความร่วมมือโดยแจ้งให้ทีมชาติที่จะเข้าร่วมศึกฟุตบอลยูโร 2020 ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบโดสให้นักฟุตบอลและเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะเริ่มการแข่งขัน หลายทีมเช่นอิตาลีในกลุ่ม A ซึ่งประเดิมนัดแรกเมื่อวันศุกร์ (11 มิ.ย.) ที่กรุงโรม ฉีดวัคซีนกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แต่บางประเทศเช่นสเปนก็เพิ่งจะฉีดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรือ 3 วันก่อนลงสนามนัดแรก ทำให้ทางทีมปฏิเสธการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ต้องฉีด 2 เข็มจึงจะครบโดสและเป็นข้อเสนอแรก หันไปใช้วัคซีนแบบ “เข็มเดียวจบ” ของจอห์นสันฯ แทน เช่นเดียวกับทีมชาติเบลเยี่ยม ที่ให้เหตุผลเดียวกันว่า ถ้าจะต้องลงสนามแล้วมีผลข้างเคียง ก็ขอมีครั้งเดียวจบ ๆไป  

หลุยส์ เอ็นริเก้ อดีตนักฟุตบอลซึ่งปัจจุบันเป็นผู้จัดการทีมชาติสเปน เปิดเผยว่า ทีมของเขากำลังจะลงสนามในเร็ว ๆนี้ นัดแรกเป็นการพบกับสวีเดนในวันจันทร์ (14 มิ.ย.) หากต้องฉีดวัคซีนแบบ 2 เข็ม ก็อาจส่งผลกระทบหรือมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นระหว่างที่มีการแข่งขันนัดเปิดสนาม 1 ครั้ง จากนั้นเว้นช่วงไปฉีดเข็มที่สองจะเป็นราว ๆ รอบ 4 ทีมสุดท้าย ซึ่งหากสเปนได้เข้าไปถึงรอบนั้นก็จะต้องแข่งแบบมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนกันอีกรอบ  และกว่าร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเต็มที่ก็คงใกล้รอบรองชนะเลิศในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

ดังนั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขสเปนร่วมกับสหพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติ จึงได้จัดสรรวัคซีนจอห์นสันฯ แบบ “เข็มเดียวจบ” มาฉีดให้นักฟุตบอลและทีมเจ้าหน้าที่ ตัดปัญหาเรื่องวัคซีนเข็มที่สอง และทำให้นักเตะลงสนามแบบไม่ต้องกังวลกับผลข้างเคียงหลายรอบ อย่างไรก็ตาม วัคซีนเข็มเดียวก็ยังอาจจะมีผลข้างเคียงบ้าง เช่น ปวดแขนบริเวณที่ฉีด หรือ มีไข้ 2-3 วัน

การแข่งขันจะมีขึ้นใน 11 ประเทศ

ในส่วนของผู้เข้าชมการแข่งขันนั้น ทางยูฟ่าได้กำหนดกฎเกณฑ์การเข้าชมโดยคำนึงถึงการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวดเช่นกัน แต่เนื่องจากศึกฟุตบอลยูโร 2020 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแข่งขันที่ไม่มีประเทศเจ้าภาพ (host nation) โดยการแข่งขัน 51 นัดของ 24 ทีมชาติจะเกิดขึ้นใน 11 เมืองของ 11 ประเทศ ก่อนที่นัดชิงชนะเลิศจะมีขึ้นที่สนามเวมบลีย์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ (วันที่ 11 ก.ค.) จึงมีการออกกฎเกณฑ์การเข้าชมในสนามให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของประเทศที่จัดการแข่งขันนั้น ๆ

ตัวอย่างเช่น กฎกติกาการเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ที่สนาม “เนชั่นแนล อารีนา บูคาเรสต์” ประเทศโรมาเนีย ซึ่งเป็น 1 ในประเทศที่จัดการแข่งขัน  ผู้ที่มีตั๋วเข้าชมแล้ว ยังจะต้องมีหน้ากากอนามัย และสายรัดข้อมือที่เรียกว่า Covid-19 wristband จึงจะสามารถเข้าชมการแข่งขันในสนามได้ ซึ่งการจะได้สายรัดข้อมือมานั้น ผู้ต้องการเข้าสนามแข่งขัน จะต้องยื่นแสดงเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้

  • เอกสารรับรองว่า ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว อย่างน้อย 10 วันก่อนเข้าสนาม
  • เอกสารรับรองผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ผลออกมาเป็นลบ (negative)
  • เอกสารรับรองว่า ผู้ชมรายนั้นเคยเป็นผู้ป่วยโควิด-19 และหายแล้ว ระหว่าง 15-90 วันก่อนเข้าสนาม  

นอกจากนี้ ยังมีการขอความร่วมมือจากแฟนบอลที่เข้ามาในสนามให้ปฏิบัติตามแนวทางเว้นระยะห่างทางสังคม โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตรจากบุคคลอื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกายผู้อื่น และการรักษาสุขอนามัย เช่น ล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อ โดยทางสนามจะจัดจุดติดตั้งเจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคไว้ให้ เป็นต้น  

คำแนะนำสำหรับผู้ชมในสนามบูคาเรสต์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง