เวียดนาม-อินโดนีเซีย-กัมพูชา แนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัว

17 มิ.ย. 2564 | 00:00 น.

วิจัยกรุงศรี ฟันธงเวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา แนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง พร้อมเผยปัจจัยสนับสนุนการเติบโต มีอะไรบ้าง เช็กเลย

วิจัยกรุงศรี ได้จัดทำบทวิเคราะห์เรื่อง "การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ CLMVIP : ความเหมือนที่แตกต่าง" โดยได้ประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศ CLMVIP (ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ) มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดยเวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา


โดยวิจัยกรุงศรี เผยว่าหลังเผชิญการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เศรษฐกิจหลายประเทศใน CLMVIP หดตัวอย่างหนักในปี 2020 ยกเว้นเวียดนาม อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจประเทศ CLMVIP มีโอกาสเติบโตร้อยละ 4-7 ในปี 2021 ซึ่งสูงกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคอื่น ทั้งนี้ เวียดนามน่าจะเป็นประเทศที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นใน CLMVIP ถัดมาคือ อินโดนีเซีย และกัมพูชา

 

สำหรับปัจจัยสนับสนุนของแต่ละประเทศ "วิจัยกรุงศรี"สรุปได้ดังนี้


เศรษฐกิจเวียดนาม มีโอกาสขยายตัวแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นในกลุ่ม ส่วนหนึ่งเนื่องจากการที่เวียดนามสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ค่อนข้างดีแม้เผชิญการระบาดหลายระลอก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวดีต่อเนื่อง ,การผลักดันการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะมีผลทางตรงต่อการจ้างงานภายในประเทศต่อเนื่อง


ขณะที่ผลทางอ้อมจะช่วยเร่งให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจและการลงทุนของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนจากต่างชาติ ,การเร่งพัฒนาและเพิ่มความหลากหลายของสาขาการผลิต ช่วยสร้างความยืดหยุ่นของภาคการส่งออก อีกทั้งยังเป็นปัจจัยเชิงบวกดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศมากขึ้นเพื่อเข้าร่วมในห่วงโซ่การผลิตในสาขาต่าง ๆ 


ปัจจัยบวกจากการบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรีหลายฉบับที่ช่วยเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของเวียดนาม และเพิ่มความน่าลงทุนในสาขาธุรกิจที่เวียดนามได้เปิดเสรีแก่ประเทศสมาชิกของความตกลงฯ เหล่านี้ด้วย


โดยมีความตกลงฯ สำคัญ อาทิ ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) เมื่อเดือนสิงหาคม 2020 และความตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2020 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่บังคับใช้ไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะหนุนการค้าและการลงทุนทั้งในเวียดนามและ CLMVIP
 

อินโดนีเซีย อาจฟื้นตัวได้เป็นลำดับถัดจากเวียดนาม จากความพยายามในการเร่งจัดซื้อและฉีดวัคซีนเป็นประเทศแรก ๆ ในอาเซียน แผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฎาคม 2021 เป็นต้นไป แผนการฉีดให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ภายในไตรมาสแรกของปี 2022 ตลอดจนนโยบายที่ชัดเจนของภาครัฐที่เร่งสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผ่านการผ่อนคลายนโยบายการคลังและการเงินอย่างต่อเนื่อง

 
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงกฎหมายด้านการลงทุน ประกอบกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคส่งออกตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ จีน และสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ยังค่อนข้างเข้มงวดในหลายพื้นที่อาจส่งผลจำกัดการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศแม้เริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้น


กัมพูชา มีโอกาสฟื้นตัวเป็นลำดับถัดมา แต่คาดว่าการส่งออกจะได้อานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางรายการ และรถจักรยานและชิ้นส่วน แม้ว่ากัมพูชาจะได้รับผลกระทบจากการถูกระงับสิทธิพิเศษทางภาษีบางส่วนจากสหภาพยุโรป (EBA) 


ขณะที่ภาครัฐเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐหลายแห่ง อาทิ สนามบินพนมเปญแห่งใหม่ ช่วยหนุนให้เกิดการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชากับจีน และความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชากับเกาหลีใต้ที่อยู่ระหว่างรอลงนามในราวกลางปี 2021 ซึ่งคาดว่าจะช่วยเอื้อบรรยากาศด้านการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศได้มากขึ้น


อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจกัมพูชาอาจฟื้นตัวในระดับต่ำกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากเผชิญความท้าทายในการควบคุมการระบาดระลอกใหม่ที่ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปซึ่งครองสัดส่วนรวมกว่าร้อยละ 20 ของ GDP ล่าช้าตามไปด้วย 


ขณะที่กัมพูชามีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนเน้นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น พนมเปญ กันดาล สีหนุวิลล์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในบางพื้นที่ได้
 

ฟิลิปปินส์ อาจเผชิญแรงกดดันให้ฟื้นตัวล่าช้ากว่าเวียดนามและอินโดนีเซีย แม้มีปัจจัยบวกด้านขนาดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูงราวร้อยละ 4 ของ GDP และภาคการส่งออกของฟิลิปปินส์ที่คาดว่าจะดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน (เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของฟิลิปปินส์ ด้วยสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของสินค้าส่งออกทั้งหมด) แต่การฟื้นตัวยังน่าผิดหวังเนื่องจากการเบิกจ่ายวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างล่าช้า 


นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ประกอบกับการแพร่ระบาดระลอก 2 ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 4 เดือน (เดือนมกราคม-เมษายน 2021) ทำให้ทางการยังต้องดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดค่อนข้างเข้มงวดอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ไตรมาส 2 ของปี 2021 ปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลฉุดรั้งการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 73 ของ GDP


สปป.ลาว ยังเผชิญปัญหาด้านเสถียรภาพและปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้ สปป.ลาว มีข้อจำกัดในการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจึงค่อนข้างอ่อนแอ นอกจากนี้ การส่งออกของ สปป.ลาว ต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัวเนื่องจากไทยซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของประเทศ เผชิญการระบาดระลอกใหม่ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าจาก สปป.ลาว ซบเซา 


ขณะที่โอกาสดึงดูด FDI ค่อนข้างจำกัดจากกระจุกตัวด้านสาขาการลงทุน (พลังงานไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก) จากปัญหาในภาคส่งออก ภาคท่องเที่ยว และข้อจำกัดของ FDI ส่งผลให้ฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ยังมีแนวโน้มเปราะบาง


เมียนมา เผชิญความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งส่งผลชะลอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจออกไป หลังจากผู้นำทางทหารของเมียนมาเข้ายึดอำนาจและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ส่งผลให้หลายประเทศดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อผู้นำทางทหาร


ด้วยปัจจัยดังกล่าวมีผลฉุดรั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนและคู่ค้าในต่างประเทศ ทำให้มูลค่าการลงทุนและการส่งออกในปี 2021 มีโอกาสหดตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อ อาจส่งผลชะลอหรือมีผลให้พัฒนาการเศรษฐกิจของเมียนมาหยุดชะงักลงไป

 

โดยภาพรวมแล้ว ประเทศส่วนใหญ่ใน CLMVIP มีปัจจัยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกันอันได้แก่ 

  1. ผลของมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากทั้งนโยบายการเงินและการคลัง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 
  2. การส่งออกที่ได้อานิสงส์จากวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของประเทศ CLMVIP 
  3. กระแสการรวมตัวกันภายในภูมิภาค (Regionalization) ที่เร่งตัวขึ้นจากการขยายความตกลงการค้าเสรีหลายฉบับ โดยเฉพาะ RCEP ที่ครอบคลุมถึง 15 ประเทศเอเชีย ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่การผลิตระหว่างกันในภูมิภาค 

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ คาดว่าจะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้มีความโดดเด่นแม้จะอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัวที่แตกต่างกันก็ตาม

 

ที่มา:วิจัยกรุงศรี