ชีพจรเศรษฐกิจฟื้นรับวันชาติ ไบเดนลั่นเป็นความคืบหน้าครั้งประวัติศาสตร์

03 ก.ค. 2564 | 18:10 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2564 | 23:24 น.

"โจ ไบเดน" ผู้นำสหรัฐ ชูตัวเลขการจ้างงานแข็งแกร่ง และการฟื้นตัวในตลาดแรงงาน เป็นสัญญาณบ่งชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังบรรลุผล นับเป็นข่าวดีต้อนรับการเฉลิมฉลองวันชาติสหรัฐ 4 ก.ค.

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ชี้ให้เห็นถึงตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา สองวันก่อน การฉลองวันชาติ เป็นสัญญาณแสดงว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของสหรัฐอเมริกากำลังบรรลุผล

"นี่เป็นความคืบหน้าครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้เราฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี...พูดง่ายๆก็คือ เศรษฐกิจของเรากำลังฟื้นตัวขึ้นแล้ว” ประธานาธิบดีสหรัฐยกเครดิตให้ความคืบหน้าที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลจากแรงหนุนหลายประการซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โครงการระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “American Rescue Plan”

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ American Rescue Plan วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ช่วยอัดฉีดเงินเข้าสู่ภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน และรัฐบาลในรัฐต่างๆ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 850,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 706,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ข้อมูลของกระทรวงฯ ยังระบุว่า การจ้างงานของภาคเอกชนในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 662,000 ตำแหน่ง ขณะที่การจ้างงานภาครัฐในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้น 188,000 ตำแหน่ง

นายจาเร็ด เบิร์นสไตน์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า ตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งในขณะนี้บ่งชี้ว่า สหรัฐอาจมีการจ้างงานกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ทรงตัวที่ระดับ 61.6%

ชีพจรเศรษฐกิจฟื้นรับวันชาติ ไบเดนลั่นเป็นความคืบหน้าครั้งประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนในสหรัฐให้ความเห็นว่า ตัวเลขจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่พุ่งขึ้นเกินคาด จะไม่ทำให้ธนาคารกลาง (เฟด) เร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ฮิวจ์ กิมเบอร์ นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน แอสเซ็ท แมเนจเมนท์ มองว่า ถึงแม้แรงกดดันจากค่าจ้างกำลังเพิ่มขึ้น และตลาดแรงงานสหรัฐกำลังฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่ร้อนแรงพอที่จะทำให้เฟดหันมาคุมเข้มนโยบายการเงินมากกว่าที่เป็นอยู่

ด้านนายเจมส์ แมคแคน นักเศรษฐศาสตร์จาก อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด อินเวสท์เมนท์ ให้ความเห็นว่า ข้อมูลในตลาดแรงงานจะไม่เปลี่ยนมุมมองของเฟด โดยการดีดตัวของตลาดแรงงานเป็นเรื่องที่มีการคาดการณ์กันไว้แล้ว ซึ่งการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณต่อเฟดว่า บริษัทต่าง ๆ ประสบความสำเร็จในการหาคนงาน ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของค่าจ้างเป็นเวลานาน

หลังจากนี้ สิ่งที่นักลงทุนจะจับตา คือ

  1. เนื้อหารายงานการประชุมของเฟดประจำเดือนมิ.ย.ที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์หน้า
  2. การรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 และ
  3. ความคืบหน้าในการผลักดันร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน