Ynet เว็บไซต์ข่าวของ อิสราเอล รายงานอ้างอิงข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอล ระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ บริษัทไฟเซอร์-บิออนเทค มีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันโรคโควิด-19 หลังการฉีดเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ ขณะที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา และรัฐบาลอิสราเอล ก็ได้ยกเลิกมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลระบุว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ของวัคซีนไฟเซอร์-บิออนเทค อยู่ที่ระดับ 94% ในช่วงวันที่ 2 พ.ค.-5 มิ.ย. แต่หลังจากนั้นก็ลดลงเหลือ 64% ในช่วงวันที่ 6 มิ.ย.ถึงต้นเดือนก.ค.
นอกจากนี้ ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ในการป้องกันการเจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล และอาการเจ็บป่วยร้ายแรงนั้น ได้ลดลงจาก 98% เหลือ 93% ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน
Ynet รายงานว่า อิสราเอลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เมื่อต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา และผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่ก็เป็นประชาชนที่ฉีดวัคซีนแล้ว โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา 55% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และ ณ วันที่ 4 ก.ค. ก็มีผู้ป่วยโควิดร้ายแรง 35 รายจากจำนวนประชากร 9.3 ล้านราย เมื่อเทียบกับ 21 ราย ณ วันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา
นายเชซี เลวี อธิบดีกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล ระบุว่า แม้ประชาชนในอิสราเอลได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วถึง 80% แต่กลับพบว่า ไวรัสโควิดกลายพันธุ์อย่างสายพันธุ์เดลตานั้น มีสัดส่วน 70% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ โดยเขาชี้ว่า 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่นี้เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งเรื่องนี้อาจแสดงให้เห็นว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ฉีดไปแล้วอาจจะลดลงเล็กน้อยในการต่อสู้กับเชื้อโควิดกลายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์อัลฟา ที่ตรวจพบครั้งแรกในอังกฤษ และสายพันธุ์เดลตา ที่ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย
ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีน 2 โดสของไฟเซอร์ลดลงมาอยู่ที่ 88% จากเดิม 95% แต่ยังไม่ชัดเจนว่า ผู้ติดโควิดหลังจากได้รับวัคซีนครบแล้วนั้นเป็นผลมาจากเชื้อกลายพันธุ์เหล่านี้หรือไม่