อย่างไรก็ตาม มีข่าววานนี้ (7 ก.ค.) ซึ่งไม่ใช่ข่าวดีนักสำหรับชาวสิงคโปร์ที่เลือกฉีด วัคซีนซิโนแวค เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ระบุ จะไม่นับรวมบุคคลที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จาก บริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ว่าเป็นผู้ได้รับวัคซีนแล้ว เนื่องจากข้อมูลตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนอย่างเป็นทางการของสิงคโปร์จะนับเฉพาะวัคซีนที่ได้รับอนุมัติในโครงการฉีดวัคซีนของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งได้แก่ วัคซีนไฟเซอร์-บิออนเทค และ วัคซีนโมเดอร์นา
ส่วนวัคซีนซิโนแวคนั้น ยังรอผลการศึกษาที่แน่ชัดก่อน โดยสิงคโปร์ได้อนุญาตให้บางคลินิกที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐ สามารถให้บริการฉีดวัคซีนซิโนแวคแก่ผู้ต้องการเพื่อเป็น “วัคซีนทางเลือก” ซึ่งก็มีปริมาณจำกัดเพียง 2 แสนโดสเท่านั้น ท่ามกลางสถานการณ์วัคซีนขาดแคลนทั่วโลก
เจ้าหน้าที่ของสิงคโปร์กล่าวว่า ที่ยังไม่นับผู้รับวัคซีนซิโนแวคเข้ารวมอยู่ในสถิติการฉีดวัคซีนของทางการ เพราะซิโนแวคยังไม่ได้รับอนุมัติการใช้ในโครงการฉีดวัคซีนของรัฐบาลสิงคโปร์ และผู้ผลิตยังต้องยื่นเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนให้ครบถ้วน ซึ่งเท่าที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิภาพที่มีในการป้องกันไวรัสโควิดกลายพันธุ์อย่างสายพันธุ์เดลตา “เรายังไม่มีหลักฐานทั้งทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ที่มากเพียงพอจะสรุปประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค โดยเฉพาะในแง่การป้องกันการติดเชื้อและการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา” นายออง เย คุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์กล่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7 ก.ค.)
ดังนั้น สถิติการฉีดวัคซีนของทางการสิงคโปร์ จึงนับเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์-บิออนเทค และโมเดอร์นา ซึ่งได้รับอนุมัติให้ใช้ในโครงการฉีดวัคซีนอย่างเป็นทางการเท่านั้น
ปัจจุบันเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา เป็นสายพันธุ์ที่ตรวจพบในผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่ในสิงคโปร์ นับตั้งแต่มีการพบคลัสเตอร์ใหม่ที่สนามบินชางงีในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้นอีกครั้ง
ข้อมูลจนถึงวันพุธ (7 ก.ค.) ชี้ว่า ชาวสิงคโปร์ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาอย่างน้อย 1 เข็มแล้วมีจำนวนกว่า 3.7 ล้าคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 65% ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว 2 เข็มมีจำนวนเกือบ ๆ 2.2 ล้านคน รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มให้ประชาชน 2 ใน 3 ของทั้งประเทศภายในวันที่ 9 ส.ค. ศกนี้
เหตุที่ทำให้ความต้องการฉีดซิโนแวค แผ่วลงอย่างรวดเร็ว
กลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา สิงคโปร์อนุญาตให้คลินิกบางแห่งฉีดวัคซีนซิโนแวคให้ประชาชนได้ในฐานะ “วัคซีนทางเลือก” สำหรับคนที่ชอบวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมมากกว่าเทคโนโลยี mRNA ซึ่งเป็นของใหม่ โดยประชาชนต้องออกค่าใช้จ่ายเอง และมีโควตาให้ทั้งสิ้น 200,000 โดสเท่านั้น แรก ๆ ประชาชนก็ตอบรับอย่างคึกคัก มียอดจองคิวล้นหลาม โดยส่วนใหญ่ผู้จองเป็นผู้สูงวัยและผู้ที่มีเชื้อสายจีน
แต่ต่อมาความกระตือรือร้นที่จะฉีดเริ่มแผ่วลง และจนถึงวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ยอดชาวสิงคโปร์ที่ได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้วมีจำนวนราว 17,000 คนเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเริ่มมีข่าวและหลักฐานจากต่างประเทศมากขึ้นว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดส หรือ 2 เข็มแล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมากอยู่ดี
นอกจากนี้ ทางการยังไม่รับรอง ทำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว ยังคงต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อซ้ำอีก กรณีที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีผู้คนชุมนุมจำนวนมาก เช่น การดูคอนเสิร์ต หรือเข้าสถานบันเทิงบางรูปแบบ ซึ่งต่างจากคนที่ฉีดวัคซีนที่ทางการให้การรับรอง เช่น ไฟเซอร์และโมเดอร์นา ที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีก เป็นต้น
ในแง่ของแนวโน้มการคลี่คลายปัญหาการขาดแคลนวัคซีนนั้น องค์การพันธมิตรเพื่อวัคซีน หรือ GAVI ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการภาคีกระจายวัคซีน COVAX ขององค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความหวังว่า สถาบันวัคซีนแห่งอินเดีย (SII) จะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอินเดียให้กลับมาส่งออกวัคซีนแก่ประชาคมโลกได้อีกครั้งในไตรมาสที่สามของปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มส่งออกได้หลังสิ้นปี หลังสถานการณ์ระบาดของโควิด-19ในอินเดียเริ่มดีขึ้น และปริมาณการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในอินเดียก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย