ช่วงเย็นของวันที่ 16 กรกฎาคม ฯพณฯ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ (APEC Informal Leaders’ Retreat) ผ่านระบบการประชุมทางไกลและกล่าวสุนทรพจน์ โดยเน้นย้ำว่า จีนได้เอาชนะความท้าทายต่อความต้องการในการฉีดวัคซีนจำนวนมหาศาลของจีนเอง และได้จัดหาวัคซีนมากกว่า 500 ล้านโดสแก่ประเทศกำลังพัฒนา ในอีก 3 ปีข้างหน้า จีนจะให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศจำนวน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการต่อสู้กับโรคระบาดและฟื้นฟูการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากนีิ้ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ยังได้กล่าวเสนอแนะ 4 ประการ ทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ส่งเสริมด้านวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ด้วยความมุ่งมั่นจะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงจุดสูงสุดก่อนปี 2030 บรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ก่อนปี 2060 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ประการที่หนึ่ง การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อสู้กับโรคระบาด จีนยินดีมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการริเริ่มความร่วมมือ ต่าง ๆ เช่น การสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานวัคซีน ส่งเสริมการหมุนเวียนของวัสดุสำคัญ และใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างหลักประกันต่อการไปมาหาสู่ของบุคลากรอย่างมีสุขภาพ มีความปลอดภัย และมีระเบียบ จีนได้บริจาคเงินให้กับเอเปคเพื่อจัดตั้งกองทุนย่อย ในการ“รับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ"
ประการที่สอง ส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเชิงลึก จำเป็นต้องส่งเสริมการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน และปกป้องระบบการค้าพหุภาคี โดยมีองค์การการค้าโลกเป็นแกนหลัก เร่งส่งเสริมความร่วมมือในการเชื่อมต่อโครงข่ายดิจิทัลและสร้างเขตการค้าเสรีระดับสูงในเอเชียแปซิฟิก จีนเป็นประเทศแรกที่เสร็จสิ้นการตรวจสอบและอนุมัติข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยคาดหวังว่าข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการภายในปีนี้
ประการที่สาม ยืนหยัดในการพัฒนาอย่างครอบคลุมและยั่งยืน จีนมุ่งมั่นจะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงจุดสูงสุดก่อนปี 2030 บรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ก่อนปี 2060 จีนสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของเอเปค ส่งเสริมการพัฒนาที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สะอาดและหลากหลาย และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030
และประการที่สี่ คว้าโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลกเป็นเศรษฐกิจที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด และความร่วมมือแบบได้ประโยนช์ร่วมกันเป็นวิธีเดียวที่ถูกต้อง จำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และพยายามสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจดิจิทัลที่เปิดกว้าง มีความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ