สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ คะแนนนิยม ในตัวนายกรัฐมนตรี "โยชิฮิเดะ ซูงะ" ตกดิ่งลงมานั้น เกิดจากความผิดหวังเกี่ยวกับ การบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลนั่นเอง
ผลสำรวจของหนังสือพิมพ์นิกเคอิ บิสสิเนส เดลี ซึ่งจัดทำเมื่อวันที่ 23-25 ก.ค. 2564 ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 2 ใน 3 รายแสดงความคิดเห็นว่า โครงการฉีดวัคซีนของญี่ปุ่นนั้น “ไม่น่าพอใจ” เนื่องจากเริ่มต้นโครงการล่าช้า ซ้ำยังมีจำนวนวัคซีนไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยมีประชาชนน้อยกว่า 1 ใน 4 หรือน้อยกว่า 25% ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว
แม้ญี่ปุ่นจะไม่เคยเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงโตเกียวได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,763 รายในวันอาทิตย์ (25 ก.ค.) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,128 รายในวันก่อนหน้า ทั้งยังเป็นการพบผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงกว่า 1,000 รายต่อเนื่องเป็นวันที่หกแล้ว ขณะที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ภายใต้การประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันโควิด-19 เป็นรอบที่สี่ในกรุงโตเกียว สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า กรุงโตเกียวจะยังคงอยู่ภายใต้การประกาศภาวะฉุกเฉินไปจนถึงวันที่ 22 ส.ค.ซึ่งจะครอบคลุมช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกซึ่งจะปิดฉากลงในวันที่ 8 ส.ค.นี้
ผลการสำรวจ สะท้อนชัดว่า ชาวญี่ปุ่นมีความวิตกกังวล ว่าการเปิดประเทศให้นักกีฬาและเจ้าหน้าที่การแข่งขันโอลิมปิกจำนวนมหาศาลเดินทางเข้ามานั้น จะเพิ่มอัตราการติดเชื้อโควิด-19 โดยประชาชน 31% ที่ตอบคำถามการสำรวจ ระบุว่า การแข่งขันโอลิมปิกควรต้องยกเลิกหรือเลื่อนออกไปก่อน
ขณะที่ประชาชน 50% ระบุว่า ขั้นตอนการตรวจนักกีฬาโอลิมปิกและเจ้าหน้าที่ที่เดินทางเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นนั้น "ไม่เหมาะสม" โดยระบุว่า การแข่งขันควรถูกจัดขึ้นภายใต้กฎการกักตัวที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส แต่ถึงกระนั้น ญี่ปุ่นก็ยังพบกรณีที่นักกีฬาหรือเจ้าหน้าที่โอลิมปิกมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกจำนวนมาก
แหล่งข่าวระบุว่า นายซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ตั้งเป้าที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกที่ประสบความสำเร็จควบคู่กันไป เพื่อเรียกคะแนนสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป และผิดไปจากคาดหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้น จนนำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 4 ในกรุงโตเกียว และบีบบังคับให้ผู้จัดโอลิมปิกต้องออกคำสั่งห้ามผู้ชมเข้าชมการแข่งขันในเกือบทุกสนาม
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังมีข่าวดีจากการแข่งขันครั้งนี้อยู่ด้วยเช่นกัน โดยล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (26 ก.ค.) นักกีฬาของญี่ปุ่นสามารถคว้าเหรียญทองไปแล้วถึง 8 เหรียญ ซึ่งรวมถึง 2 เหรียญทองประวัติศาสตร์ในกีฬายูโดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 ก.ค.) กับอีก 2 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดง ทำให้ตอนนี้ญี่ปุ่นยังครองแชมป์เจ้าเหรียญทองโอลิมปิก 2020 อยู่