กัมพูชาขยายเคอร์ฟิวพนมเปญถึง 19 ส.ค. “ฮุนเซน” ชี้ขาดนโยบายวัคซีนเข็มที่ 3

13 ส.ค. 2564 | 17:30 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2564 | 00:59 น.

การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในกัมพูชาทะยานสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศขยายเวลาในการบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิวในเมืองหลวงพนมเปญ ออกไปอีก 7 วันจนถึงวันที่ 19 ส.ค. นี้ จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 12 ส.ค.

คำสั่งขยายเวลา เคอร์ฟิวในกรุงพนมเปญ ระบุว่า ประชาชนห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 22.00-03.00 น. นอกจากนี้ กิจกรรมใดๆที่มีความเสี่ยงใน การแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ถูกสั่งระงับเป็นเวลา 14 วัน ในช่วงวันที่ 13-26 ส.ค. 2564 ส่งผลให้มีการปิดโรงเรียน สวนสาธารณะ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ รวมทั้งสถานที่เล่นกีฬาและออกกำลังกายในช่วงเวลาดังกล่าว

 

รายงานล่าสุดระบุว่า กัมพูชามีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 83,384 ราย และเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว 1,614 รายทั่วประเทศ

สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

ด้าน สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ข้าราชการของกัมพูชา รวมทั้งประชาชนทั่วไป ที่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 แล้ว จะไม่ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 3 แต่จะมีเพียงผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนของซิโนแวคหรือซิโนฟาร์มเท่านั้น ที่จะได้รับการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 3 ซึ่งเป็นการฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย

 

"ผมขอชี้แจงในเรื่องนี้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยขณะนี้กัมพูชาก็มีปัญหามากพออยู่แล้ว ดังนั้นขอให้พวกเราอย่าสร้างปัญหามากขึ้นโดยทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมา" สมเด็จฮุนเซนกล่าว พร้อมชี้แจงว่า ขณะนี้มีปัญหา 2 ประการที่ทำให้รัฐบาล “ไม่สามารถ” จัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฉีดเป็นเข็มที่ 3 สำหรับผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มแรก

 

  • ปัญหาแรก คือ ยังไม่มีการวิจัยที่ชัดเจนเกี่ยวกับช่วงห่างของระยะเวลาระหว่างการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3
  • ประการที่สอง คือ รัฐบาลกัมพูชาไม่สามารถจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างเพียงพอสำหรับประชาชนทุกคนได้ ทำให้รัฐบาลตัดสินใจให้การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้นสำหรับบุคลากรด่านหน้าที่เคยฉีดวัคซีนของซิโนแวคหรือซิโนฟาร์มเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 แล้วเท่านั้น

 

ทั้งนี้ กัมพูชากำลังเริ่มโครงการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เข็มที่ 3 ให้แก่บุคลากรด่านหน้าเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า นอกจากนี้ ยังมีนโยบายให้ผู้ป่วยโควิดเดลต้าต้องรักษาตัวในระบบทุกคน ไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ารักษาตัวอยู่ที่บ้าน


กัมพูชาเน้นฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิให้แก่บุคลากรด่านหน้า

"ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าทุกคนไม่ว่าจะติดเชื้อในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาในศูนย์การรักษาโรคโควิด-19 หรือโรงพยาบาลที่กำหนดไว้ โดยพิจารณาจากลักษณะอาการของผู้ป่วย" นายแมม บุญเฮง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขระบุในจดหมายแจ้งถึงหัวหน้าหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 21 วัน และเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว ยังต้องกักตัวอยู่ที่บ้านอีก 14 วัน รายงานข่าวระบุว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทุกคนในกัมพูชาจะได้รับการรักษาฟรี

 

มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ประเทศกัมพูชาพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขรายงานเมื่อวันอาทิตย์ (8 ส.ค.) พบว่า มีผู้ติดเชื้อเดลต้าเพิ่มอีก 58 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าในกัมพูชาขณะนี้อยู่ที่ 385 ราย