กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินเดียแถลงในวันนี้ (14 ส.ค.) ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอินเดีย ได้อนุมัติให้ บริษัท ภารัต ไบโอเทค ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของอินเดีย สามารถทำการทดลองในระยะ 2 และ 3 สำหรับ วัคซีนต้านโควิด-19 แบบสูดดม ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่ระดับโพรงจมูก
ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า จีนก็ได้ทำการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ชนิดสูดดมเช่นกัน ซึ่งได้แสดงผลที่ปลอดภัยในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 และขณะนี้กำลังมีการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 โดยบริษัทของจีนที่มีความคืบหน้ามากที่สุดในเรื่องวัคซีนชนิดสูดดม ก็คือ บริษัท แคนซิโนไบโอ (CanSinoBio) ที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนวัคซีนชนิดสูดดมตัวแรกของประเทศจีนไว้แล้ว สำหรับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ทั้งนี้ วัคซีนชนิดสูดดม เป็นผลงานวิจัยที่น่าจับตาอย่างมาก เพราะมีจุดเด่นที่น่าสนใจ คือ ไม่ต้องใช้เข็มฉีดยา ไม่ต้องฉีดเข้าทางผิวหนัง แต่จะใช้วิธีการพ่นเป็นฝอยละออง (Nebulized Inhalation) เหมือนกับการพ่นยาขยายหลอดลมให้กับผู้ป่วยโรคหอบหืด (Asthma) วัคซีนดังกล่าว ซึ่งใช้ปริมาณเพียงหนึ่งในห้าของวัคซีนชนิดฉีด เป็นฝอยละอองขนาดเล็ก จะเข้าไปกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานตลอดเยื่อบุของทางเดินหายใจ (Mucosal immunity) เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรสามารถบุกเข้าไปในร่างกายได้
สำหรับ ข้อเด่นของวัคซีนชนิดสูดดมหรือชนิดพ่นเข้าทางจมูกนี้ สามารถประมวลสรุปได้คือ
บริษัทแคนซิโนไบโอ ของจีนนั้น ไม่เพียงเป็นผู้วิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิดชนิดสูดดม(หรือชนิดพ่นเข้าจมูก) รายแรกของจีน แต่ยังเป็นผู้พัฒนาวัคซีนโควิดชนิดฉีดโดสเดียว (เข็มเดียว) เหมือนวัคซีนของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันอีกด้วย โดยวัคซีนชนิดฉีดเข็มเดียวของแคนซิโนไบโอ มีประสิทธิผลในการป้องกันโควิด 65-68% ในขณะที่ของจอห์นสันแอนด์สันอยู่ที่ 66%
ข่าวดีเพิ่มเติมสำหรับเรื่องวัคซีนชนิดใหม่นี้ก็คือ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ของไทย กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบพ่นจมูกอยู่เช่นกัน โดยจะเป็นวัคซีนชนิด Adenovirus-based และ Influenza-based ขณะนี้ผ่านการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองเรียบร้อยแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพต่อการคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้น ซึ่งข้อมูลที่ได้จะผลักดันให้เป็นวัคซีนต้นแบบป้องกันโรคโควิด-19ที่สามารถนำไปทดสอบทางคลินิกในอาสาสมัครต่อไป
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. เปิดเผยเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการว่า เมื่อวัคซีนนี้ได้ผ่านขั้นตอนการศึกษาในสัตว์ทดลองแล้วพบว่าได้ผลดี ไม่มีผลข้างเคียง จึงจะยื่นเอกสารต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอทดสอบในมนุษย์ โดยจะร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วางแผนทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนดังกล่าวกับเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งหาก อย. อนุมัติเร็ว ก็จะเริ่มทดสอบในมนุษย์เฟสแรกปลายปี 2564 นี้ และต่อเนื่องเฟส 2 ในเดือนมีนาคม 2565 หากได้ผลดีจะสามารถผลิตใช้ได้ประมาณกลางปี 2565