นายจอยดีป มัคเฮอร์จี นักวิเคราะห์ของ เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) กล่าววันนี้ (1 ต.ค.) เตือนว่า การผิดนัดชำระหนี้อาจส่งผลให้สหรัฐถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับ D ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด "หากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ ก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับประเทศรายใหญ่ในกลุ่ม G7 อย่างสหรัฐอเมริกา"
ทั้งนี้ S&P จะดำเนินการกับสหรัฐเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่ผิดนัดชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ดอกเบี้ยพันธบัตรกระทรวงการคลัง ตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งหากเกิดสถานการณ์เหล่านี้ อันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐก็จะถูกปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุด
นักวิเคราะห์ของ S&P ยังกล่าวด้วยว่า โดยปกติแล้วการผิดนัดชำระหนี้มักจะมีสาเหตุมาจากความตึงเครียดทางเศรษฐกิจและการเงิน นอกจากนี้ ปัจจัยด้านการเมืองก็เป็นแรงขับเคลื่อนการอภิปรายเรื่องเพดานหนี้ในสหรัฐ
ในเดือนส.ค.ปี 2554 นั้น S&P ได้เคยปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงสู่ระดับ AA+ จากระดับสูงสุดที่ AAA เนื่องจากรัฐบาลในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงมาก และสภาคองเกรสในสมัยนั้นมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้
หนี้สาธารณะ หรือ Sovereign Debt นั้น หมายถึงเงินที่รัฐบาลกู้ยืมมาจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศในภาวะที่รัฐมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย การก่อหนี้ของรัฐบาลจึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยทั่วไปแล้ว หากมูลค่าหนี้สาธารณะของประเทศใดสูงใกล้ระดับ 90% ของ GDP ของประเทศ ก็ถือว่าประเทศนั้นมีความเสี่ยงและมีปัญหาในการชำระหนี้ แต่หนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาในยุคของปธน.โอบามานั้น อยู่ที่ระดับสูงถึง 93% ของ GDP จึงทำให้เกิดกระแสความตื่นตระหนกไปทั่วโลกในช่วงเวลานั้น
สำหรับสถานการณ์ล่าสุด จนถึงขณะนี้บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐกำลังพยายามอย่างหนักในการผ่าทางตันเพื่อไม่ให้สหรัฐต้องผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ได้ เพราะหากเกิดขึ้นเชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะฉุดเศรษฐกิจสหรัฐลงเหว
ก่อนหน้านี้นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐได้ออกมากล่าวเตือนว่า หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติการเพิ่มเพดานหนี้ เงินสดในคลังของรัฐบาลจะหมดลงภายในวันที่ 18 ต.ค.นี้ และหลังจากนั้นก็ยังไม่แน่ว่าสหรัฐจะมีเงินชำระหนี้หรือไม่
เยลเลนยังชี้แจงถึงปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมาหากสภาไม่เพิ่มเพดานหนี้ให้ นั่นหมายถึงรัฐบาลจะไม่สามารถจ่ายเงินเดือนข้าราชการหรือชำระหนี้ของชาติ ทั้งยังทำให้ความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์ในฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศลดลง และจะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถชำระหนี้ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ และยังจะกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง กระตุ้นให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้น ราคาหุ้นร่วงหนัก หรือผลักดันให้เกิดความปั่นป่วนทางการเงิน
ในจดหมายล่าสุดของเยลเลนที่ส่งไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เธอระบุชัดเจนว่า สภาต้องอนุมัติการเพิ่มเพดานหนี้อย่างเร่งด่วน เพราะหากรอจนถึงนาทีสุดท้าย ก็อาจสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการกู้เงิน และเป็นผลร้ายต่ออันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐในอนาคตข้างหน้า
ทว่า ฝ่ายพรรครีพับลิกันในสภา พากันคัดค้านการเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาล แม้ว่าจะเคยอนุมัติมาแล้วในสมัยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โดยรีพับลิกันซึ่งเป็นฝ่ายค้านอ้างว่าไม่ต้องการมีส่วนร่วมกับนโยบายการใช้จ่ายของพรรครัฐบาลเดโมแครต รวมทั้งงบประมาณปฏิรูปสังคมก้อนใหญ่สุดในประวัติศาสตร์มูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
เจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกนเชสแอนด์โค (JPMorgan Chase & Co.) วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ เผยว่า เจพีมอร์แกนฯกำลังเตรียมพร้อมรับความเป็นไปได้ที่ระดับหนี้ของสหรัฐจะชนเพดาน และหวังว่าสภาจะหาทางแก้ไขเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเขาเห็นว่า ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ทำนองนี้ ปัญหาก็จะได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงก่อนหายนะจะเกิด แต่ครั้งนี้ถือว่าเฉียดฉิวมาก และไม่ควรให้เป็นเช่นนั้น
ซีอีโอของเจพีมอร์แกนเชสฯ กล่าวว่าครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่ทั้งสองพรรคการเมืองถกเถียงประเด็นเรื่องเพดานหนี้อย่างดุเดือดจนถึงวินาทีสุดท้าย โดย 2 ครั้งก่อนหน้านี้คือปี ค.ศ 2011 และ 2017
“ผมคิดว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องผิดพลาดและวันหนึ่งเราควรจะมีร่างกฎหมายสองพรรคและกำจัดเพดานหนี้ มันเป็นเรื่องการเมืองล้วน ๆ"
ไดมอนเผยว่า ขณะนี้เจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐเริ่มวางแผนรับมือกันแล้วว่า การผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐจะกระทบกับตราสารหนี้ของรัฐบาลและตลาดการเงิน สัดส่วนเงินทุน และปฏิกิริยาของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างไร