เมียนมาเสียงอ่อนหลังอาเซียนมีมติไม่เชิญ มิน อ่อง หล่าย ร่วมการประชุมซัมมิท

24 ต.ค. 2564 | 23:30 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2564 | 06:57 น.

รัฐบาลเมียนมาออกแถลงการณ์ยัน จะยึดมั่นในพันธสัญญาภายใต้ฉันทามติ 5 ข้อที่ทำไว้กับสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เมื่อเดือนเมษายน อย่างเคร่งครัด “ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวเป็นปฏิกริยาล่าสุดจาก เมียนมา หลังที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนมีมติจะไม่เชิญ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วม การประชุมสุดยอดอาเซียน ที่จะมีขึ้นผ่านระบบทางไกลระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคมนี้

 

ก่อนหน้านี้ กระทรวงต่างประเทศเมียนมาเพิ่งออกแถลงการณ์ตำหนิบรูไน ซึ่งเป็นประธานอาเซียนประจำปีนี้ กรณีพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว โดยระบุว่า การทำเช่นนั้นขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานที่อาเซียนยึดถือปฏิบัติมาเป็นเวลานาน และไม่เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน ด้วยเหตุนี้ เมียนมาจึงไม่อยู่ในสถานะที่จะยอมรับมติดังกล่าวได้

 

อย่างไรก็ตาม ท่าทีล่าสุดของรัฐบาลเมียนมานั้นดูอ่อนลง โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 24 ต.ค. ว่า ทางการพม่ายืนยันจะให้ความร่วมมือด้วยการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนให้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

 

แถลงการณ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านสื่อของรัฐบาลเมียนมา ระบุว่า เมียนมายึดมั่นในหลักการแห่งการอยู่ร่วมกันกับนานาประเทศ และจะให้ความร่วมมือต่อฉันทามติของอาเซียนที่มีขึ้นเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย

ทั้งนี้ ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนนั้น ประกอบด้วย

  • ต้องยุติความรุนแรงทันที
  • ทุกฝ่ายต้องใช้ความอดกลั้น
  • ต้องมีการหารืออย่างสร้างสรรค์จากทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกอย่างสันติบนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชน ผู้แทนพิเศษอาเซียนจะเป็นสื่อกลางของกระบวนการหารือและประสานความช่วยเหลือจากอาเซียน
  • เปิดทางให้กับภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียนผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน
  • เปิดทางผู้แทนพิเศษอาเซียนเดินทางเข้าหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งข้อสุดท้ายนี้รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาไม่ยินยอมให้อาเซียนเข้าเยี่ยมนางออง ซาน ซู จี

 

นายเตออูกู ไฟซาสยาห์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า มติเกี่ยวกับบุคคลที่จะเป็นผู้แทนเมียนมาเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนั้น เป็นแนวทางร่วมกันของสมาชิกอาเซียนทุกชาติ ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าวปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว

 

อาเซียนเร่งหารือแผนเศรษฐกิจโควิด เตรียมชงผู้นำเคาะในการประชุมซัมมิท

เกี่ยวกับประเด็นหารือด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ในการประชุมระดับผู้นำที่กำลังจะมีขึ้นปลายเดือนนี้  นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 20 เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมผู้นำอาเซียน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26-28 ตุลาคมนี้ โดยที่ประชุมได้รับทราบความสำเร็จในการดำเนินงานของอาเซียนโดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจ

 

บรูไนดารุสซาลามในฐานะประธานอาเซียนผลักดันประเด็นเหล่านี้  ได้แก่

  • การจัดทำเครื่องมือประเมินต้นทุนและประสิทธิภาพการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี (NTM Toolkit) เพื่อลดอุปสรรคต่อการค้าในภูมิภาค
  • การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาเซียนหลังสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภูมิภาคให้ยั่งยืน
  • การจัดทำกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนของอาเซียน เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนในภูมิภาค
  • การจัดทำแผนดำเนินงานตามความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน เช่นการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบและรับรองเอกสารสำคัญ อาทิ กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของภูมิภาค และแผนงานสู่ความเป็นดิจิทัลของอาเซียน โดยจะเสนอที่ประชุมสุดยอดอาเซียนต่อไป

 

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนของปีนี้ (2564) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่ากว่า 72,546 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.25 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่ากว่า 42,024 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์