ในการประชุมสุดยอดออนไลน์กับผู้นำของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนซัมมิต เมื่อวันพุธ (27 ต.ค.) นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า ใน การต่อสู้กับโควิด-19 นั้น การเป็นหุ้นส่วนกันจะช่วยให้เกิดการเข้าถึงการกู้สถานการณ์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งออสเตรเลียเองได้เคยแบ่งปันวัคซีนให้แก่ชาติสมาชิกอาเซียนมาแล้วจนถึงปัจจุบันจำนวนเกือบ ๆ 4 ล้านโดส และ คาดว่าจะสามารถแบ่งปันวัคซีนต้านโควิดให้อาเซียนได้อีก 10 ล้านโดสภายในกลางปีหน้า (2565)
“ขณะที่ออสเตรเลียเองก็ยังคงต้องต้อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราตระหนักดีว่าไม่สามารถจะรับมือหรือฟื้นตัวจากสถานการณ์นี้เพียงลำพัง ไม่มีเรื่องใดที่เราให้ความสำคัญมากไปกว่า การสร้างความมั่นใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงวัคซีนต้านโควิดที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ” นายมอร์ริสันกล่าว
นอกจากนี้ ผู้นำออสเตรเลียยังได้เสนอข้อตกลงหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ โดยออสเตรเลียมองว่า อาเซียนเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (ประเทศที่รายรอบมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก) ซึ่งมีความสำคัญ
มอร์ริสันกระตุ้นให้อาเซียนพิจารณาข้อเสนอในเชิงบวกสำหรับความสัมพันธ์ที่จะพัฒนาขึ้น ทั้งนี้ ออสเตรเลียจะมอบเงินช่วยเหลือจำนวน 124 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว ๆ 3,000 ล้านบาทให้แก่ชาติสมาชิกอาเซียนเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดี และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแห่งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งเพื่อรับมือกับความท้าทายนานัปการ เช่นความท้าทายเกี่ยวกับการฟื้นฟูประเทศจากโควิด-19 การต่อสู้กับขบวนการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามพรมแดน การสร้างสเถียรภาพด้านพลังงาน การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีสู่การลดก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และการพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยไกลโรคของประชากรในภูมิภาค
การผลักดันของออสเตรเลียสำหรับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับอาเซียนนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภารกิจและอิทธิพลของจีนที่ทวีขึ้นทุก ๆ ด้านในภูมิภาคนี้
ซิดนีย์ มอร์นิง เฮอรัลด์ สื่อใหญ่ของออสเตรเลียรายงานว่า อีกประเด็นที่ผู้นำออสเตรเลียให้ความสำคัญคือ การตอกย้ำให้ความมั่นใจกับบรรดาผู้นำของอาเซียนว่า สนธิสัญญา ARKUS ที่เป็นความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกลาโหมระหว่างออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป้าหมายหลักอาจเป็นการคานอำนาจกับจีนซึ่งกำลังมีอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนั้น เป็นเพียงความตกลงด้านความมั่นคงที่ทำขึ้นเพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ดังนั้น ARKUS จะไม่ทำลายหรือเป็นภัยคุกคามเสถียรภาพในภูมิภาคอย่างแน่นอน
ข้อมูลอ้างอิง