ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน จะจัดการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับ ผู้นำของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในวันจันทร์ที่ 22 พ.ย. เนื่องในวาระ ครบรอบ 30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและอาเซียน
ในการประชุมสุดยอดดังกล่าว ผู้นำจีนและอาเซียนจะประเมินความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายตลอด 30 ปีที่ผ่านมา และจะกำหนดทิศทางในอนาคต หลังจากที่จีนและอาเซียนได้บรรลุความตกลงในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าการประชุมสุดยอดครั้งนี้จะไม่มีนายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของเมียนมาเข้าร่วม โดยแหล่งข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ของจีนได้เรียกร้องให้อาเซียนอนุญาตให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว แต่ก็ได้รับการคัดค้านจากบรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย หลังจากที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนที่แล้วเช่นกัน เนื่องจากเมียนมาไม่ได้ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อในการประชุมผู้นำอาเซียนในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นโรดแมปสำหรับการหาทางออกต่อวิกฤตการเมืองภายในประเทศ
นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เมียนมาไม่ควรได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมทางการเมืองทุกระดับ จนกว่าจะกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย
สำหรับประเด็นความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนนั้น ใน การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 24 ผ่านระบบการประชุมทางไกลซึ่งมีขึ้นในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะประชุมในครั้งนั้น กล่าวว่า จีนพร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น โดยมุ่งมั่นทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อ…
จีนพร้อมสนับสนุนอาเซียนในการแก้ปัญหาตามแนวทาง ASEAN WAY ตลอดจน พร้อมสนับสนุนบทบาทของอาเซียนให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งต้องการแลกเปลี่ยนความเห็นและความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญกับการสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคให้เป็นหนึ่งเดียว โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจำเป็นต้องเร่งให้ข้อตกลงมีผลใช้บังคับตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อสร้างการบูรณาการในระดับที่สูงขึ้น
สำหรับประเทศไทยที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนสมัยพิเศษในโอกาสครบรอบฉลองความสัมพันธ์ 30 ปีด้วยนั้น นายกฯ ได้เสนอ “แนวทางกระชับความสัมพันธ์อาเซียน-จีน” เพื่อจัดการกับความท้าทาย และบรรลุเป้าหมายแห่งอนาคตร่วมกัน เอาไว้ ดังนี้
ประการแรก ความมั่นคงทางสุขภาพ เพื่อรับมือกับโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์การผลิตและกระจายวัคซีนในอาเซียน ตลอดจน การเตรียมความพร้อมทางสาธารณสุขให้ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งนี้ เพื่อลดอัตราความสูญเสียและสามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ประการที่สอง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพื่อการฟื้นฟูที่ยั่งยืนและการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาว โดยจีนเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจลำดับที่หนึ่งของอาเซียน และในวันนี้ได้มีการรับรองเอกสารยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะดำเนินการตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน
ทั้งนี้ ไทยพร้อมร่วมมือในการยกระดับ FTA อาเซียน-จีน และเร่งดำเนินการในส่วนของไทยในการให้สัตยาบันความตกลง RCEP เพื่อให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว พร้อมทั้งสนับสนุนการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่า ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของ MSMEs, start-ups และผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านความมั่นคงทางไซเบอร์
นอกจากนี้ อาเซียน-จีน ควรสานต่อความเชื่อมโยงตามแถลงการณ์ว่าด้วยการสอดประสานระหว่างแผนแม่บท MPAC 2025 กับข้อริเริ่ม BRI รวมทั้งร่วมกันกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศที่ปลอดภัย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการเดินทางของประชาชน
ประการที่สาม การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคง โดยไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องนี้ มุ่งมั่นและพร้อมที่จะมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในปีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน พ.ศ. 2564-2565 ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งจะเป็นแนวทางสู่การฟื้นฟูและการเติบโตอย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน
นายกฯ ได้เน้นย้ำการรักษาสันติภาพที่ยั่งยืน เพื่อนำอาเซียนและจีนก้าวสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม โดยรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน
ทั้งนี้ ไทยไม่ประสงค์จะเห็นความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้าระหว่างมิตรประเทศ และสนับสนุนให้มีการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันในประเด็นทะเลจีนใต้ โดยไทยพร้อมผลักดันความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย อาทิ การปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการตามกลไกอาเซียน-จีน ที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการเจรจาจัดทำ COC ที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศให้สำเร็จ และในฐานะที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกปี 2565 นายกรัฐมนตรีหวังว่า จะได้ให้การต้อนรับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ประเทศไทยด้วย