หนังสือพิมพ์เดอะ มิร์เรอร์ และเทเลกราฟ สื่อใหญ่ของอังกฤษ รายงานเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า ศาสตราจารย์ ทิม สเปคเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาทางพันธุกรรม ของมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ หัวหน้าคณะวิจัย โซ (ZOE Covid App Symptom) ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับ อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ว่ามีความคล้ายคลึงกับอาการของไข้หวัด แต่ก็มี 2 อาการใหม่ให้เป็นที่สังเกต
ทั้งนี้ จากการวิจัยพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่ทดสอบพีซีอาร์ (PCR) ที่มีผลเป็นบวกและมีการติดเชื้อโอมิครอน จะมีอาการพื้นฐานคล้ายหวัด แต่ไม่มีอาการไข้ ไอเรื้อรัง หรือสูญเสียกลิ่นและรสชาติ (ยังรับกลิ่นและรสชาติได้ดี) อย่างไรก็ตาม ทีมศึกษาวิจัย ZOE ได้สรุป 8 อาการ ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกการติดเชื้อโอมิครอน ซึ่ง ได้แก่ 6 อาการที่คล้ายหวัด และ 2 อาการใหม่ ดังนี้
อาการที่คล้ายหวัด คือ
1.เจ็บคอ
2. เหนื่อยล้า
3. ปวดศีรษะ
4. ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
5. น้ำมูกไหล
6. จาม
ส่วนอาการใหม่ คือ
7. เหงื่อออกตอนกลางคืน
8. ปวดหลังส่วนล่าง
นอกจากนี้ ยังมีผลการวิเคราะห์ผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอนกว่า 78,000 คนในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นแหล่งแรก ๆ ที่พบการติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าว โดย ทีมงานวิจัยของบริษัทประกันสุขภาพ ดิสคัฟเวอรี เฮลธ์ (Discovery Health) พบว่า สัญญาณแรกเริ่มของผู้ติดเชื้อโอมิครอน ที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการเจ็บคอ ตามด้วยคัดจมูก ไอแห้ง และปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการปวดหลังส่วนล่าง เป็นอาการที่พบมากที่สุด
ผลการศึกษาวิจัยของแพทย์ทั่วไปในแอฟริกาใต้ ยังพบอีกว่า ผู้ป่วยจำนวนมากที่มีผลตรวจติดเชื้อโอมิครอน จะมีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน แม้ว่าจะนอนหลับในห้องที่มีอากาศหนาวเย็นก็ตาม
เซอร์ จอห์น เบลล์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และที่ปรึกษารัฐบาลอังกฤษด้านไวรัสโควิด-19 เปิดเผยว่า จากข้อมูลผลการวิจัยของหลายสำนัก บ่งชี้ว่า ไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอมิครอน มีอาการค่อนข้างแตกต่างจากสายพันธุ์ก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นอาการคัดจมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ หรืออุจจาระเหลวในผู้ป่วยบางราย ซึ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ที่ต้องระวัง ขอให้ประชาชนหมั่นสังเกตตนเอง
สำหรับข้อมูลเบื้องต้นจากกระทรวงสาธารณสุขของไทย ,หมอพร้อม และสสส. ได้ออกประกาศเตือนว่า เมื่อมีอาการดังกล่าวที่ทำให้สงสัยว่าจะติดไวรัสโควิดโอมิครอนหรือไม่ ให้ปฏิบัติดังนี้
ทั้งนี้ ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว อาการมักไม่รุนแรง จนแทบไม่มีอาการ ปัจจุบันยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เราควรต้องเฝ้าระวังและดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและใครที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แนะนำให้รีบไปรับวัคซีนป้องกันโควิด
ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เป็นระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไป สามารถรับวัคซีนเข็ม 3 (Booster Dose) เพราะร่างกายของเราต้องการระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น แม้ว่าจะเคยติดเชื้อโควิดมาแล้ว หรือฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังคงติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนนี้ได้
ที่มาข้อมูล :โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ , สสส. , เดอะ มิร์เรอร์ , เดอะ เทเลกราฟ