ออสเตรเลียกักตัว “โนวัค ยอโควิช” ไม่ฉีดวัคซีน ลามเป็นประเด็นการเมือง

07 ม.ค. 2565 | 02:09 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2565 | 09:21 น.

ผู้นำเซอร์เบียลั่น รัฐบาลออสซี่กำลัง “ข่มเหงรังแก” โนวัค ยอโควิช ยอดนักเทนนิส ที่เดินทางไปออสเตรเลียเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันเทนนิสออสเตรเลียน โอเพ่น ด้วยการกักตัวในโรงแรมแถมส่อแววถูกเนรเทศ จากเหตุไม่ได้ฉีดวัคซีนก่อนเข้าประเทศ

จุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมแข่งขัน เทนนิสแกรนด์ สแลม ได้บานปลายกลายเป็นประเด็นทางการเมือง เมื่อ “โนวัค ยอโควิช” นักเทนนิสชาวเซอร์เบีย อดีตแชมป์แกรนด์สแลมสูงสุด 9 สมัย ออกมาประกาศเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่าเขาจะร่วมแข่ง เทนนิสออสเตรเลียน โอเพ่น โดย “ได้รับยกเว้น” ไม่ต้องแสดงหลักฐานว่าฉีดวัคซีนโควิดแล้ว

 

เรื่องนี้ทำให้คนออสเตรเลียที่ถูกรัฐบาลของตัวเองคุมเข้มทั้งในรูปการล็อกดาวน์และมาตรการเชิงบังคับรูปแบบอื่น ๆ พากันเดือดดาลที่ชาวต่างชาติอย่างโนวัค ยอโควิช จะได้รับการยกเว้น

โนวัค ยอโควิช ถูกกักตัวที่ออสเตรเลีย

แต่ต่อมาเหตุการณ์พลิกผันเมื่อวันพฤหัสฯ (6 ม.ค.) เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลียตัดสินใจกักตัวนักเทนนิสมือหนึ่งของโลกผู้นี้ โดยเขาถูกกักตัวอยู่ในโรงแรมของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกำลังหาทางไม่ให้ตัวเองต้องอยู่ในฐานะผู้ที่ถูกเนรเทศออกจากออสเตรเลีย แม่ของยอโควิชเมื่อรู้ข่าวนี้ ออกมาโวยทันทีว่า ลูกชายถูกทางการออสเตรเลียปฏิบัติราว “นักโทษ”

ทั้งนี้ ยอโควิชเองเป็นคนเปิดเผยเมื่อวันอังคาร (4 ม.ค.) ว่าเขาได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าออสเตรเลียเพื่อร่วมแข่งขันเทนนิสรายการนี้ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 17 ม.ค. แม้ว่ารัฐบาลออสเตรเลียจะกำหนดให้ผู้เดินทางจากต่างประเทศทุกคนจะต้องได้รับวัคซีนโควิด 2 เข็ม ไม่เช่นนั้นก็จะต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

 

ยอโควิชระบุว่า เขาได้รับสิทธิ “การยกเว้น” ทางการแพทย์จากกฎเกณฑ์นี้ ให้เข้าออสเตรเลียได้แม้ไม่ได้ฉีดวัคซีน ขณะที่เทนนิสออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้จัดการแข่งขันออสเตรเลีย โอเพ่น ออกมายืนยันเรื่องนี้เช่นกันว่า การยื่นขอรับสิทธิยกเว้นทางการแพทย์นั้น เป็นไปตามนโยบายว่าด้วย "ข้อยกเว้น" ของสมาคม และมีผู้ร่วมแข่งขัน 26 คน ที่ยื่นขอรับสิทธิยกเว้นดังกล่าว แต่มีเพียง "หยิบมือ" เท่านั้นที่ได้รับอนุญาต

 

ในการจะได้รับสิทธิยกเว้นนี้ นักเทนนิสจะต้องได้รับการประเมินจากคณะกรรมการอิสระทางการแพทย์ที่ไม่มีการเปิดเผยชื่อเพื่อป้องกันการเกิดอคติ เหตุผลที่มีน้ำหนักพอจะทำให้นักกีฬาได้รับสิทธิยกเว้น (ไม่ต้องฉีดวัคซีน) คือจะต้องมีโรคร้ายแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ นอกจากนี้ หากนักกีฬาติดเชื้อโรคโควิด-19ภายในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ก็เป็นอีกเงื่อนไขที่จะได้รับการยกเว้นเช่นกัน

 

เทนนิสออสเตรเลียได้ประกาศนโยบายนี้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และรัฐบาลของรัฐวิคตอเรียได้ให้การรับรอง และหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลกลางก็ไม่ได้โต้แย้งนโยบายดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นขัดแย้งซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติ เกิดขึ้นหลังจากคนในออสเตรเลียพากันโกรธเคืองเมื่อรู้ว่ายอโควิชได้รับสิทธิยกเว้น

 

สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษรายงานว่า ตัวยอโควิชเองก็มีส่วนก่อให้เกิดข้อถกเถียงในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด เพราะเขาเคยแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต่อต้านการฉีดวัคซีน และในช่วงปีแรกที่โควิดแพร่ระบาด เขาไปร่วมแข่งขันเทนนิสที่ประเทศเซอร์เบีย และติดเชื้อโควิด เช่นเดียวกับนักเทนนิสคนอื่น ๆ อีกหลายคน และในตอนนั้นเขาออกมากล่าวขอโทษที่ทำให้ผู้คนต้องเผชิญความเสี่ยงของการติดโรค

 

ขณะที่ในออสเตรเลียนั้น ประชาชนต้องใช้ชีวิตท่ามกลางกฎเกณฑ์ควบคุมโรคและการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด คนส่วนใหญ่ทำตามคำแนะนำของรัฐบาลที่ให้ฉีดวัคซีน โดยขณะนี้ประชากรออสเตรเลียมากกว่า 90% ได้รับวัคซีนแล้วสองเข็ม แต่ออสเตรเลียก็ยังไม่รอดพ้นจากการระบาด ล่าสุดวานนี้ (6 ธ.ค.) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในออสเตรเลียมากกว่า 70,000 คน บรรยากาศในภาพรวมจึงยังมีความกังวลในหมู่ประชาชนว่าพวกเขาอาจถูกควบคุมการใช้ชีวิตเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดต่อไปอีก

 

การกลับลำกระทันหันของนายกฯออสเตรเลีย

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นสัปดาห์ นายสก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เคยออกมาระบุว่า เขายอมรับการตัดสินใจของรัฐบาลรัฐวิคตอเรียที่อนุญาตให้ยอโควิชและนักเทนนิสคนอื่น ๆ ได้รับสิทธิยกเว้นทางการแพทย์ โดยอ้างว่า รัฐต่าง ๆ ในออสเตรเลียให้สิทธิยกเว้นแก่ผู้คนให้เดินทางเข้ามาภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง มาเป็นเวลาอย่างน้อยสองปีแล้ว แต่เห็นได้ชัดว่า ท่าทีของเขาเปลี่ยนไป เมื่อประชาชนในสังคมแสดงความเดือดดาลเกี่ยวกับเรื่องนี้  นายมอร์ริสสันกลับลำแบบยูเทิร์นกระชั้นชิด โดยออกมากล่าวเมื่อวันพุธ (5 ม.ค.) เตือนว่า ยอโควิชอาจต้องถูกส่งกลับบ้าน หากไม่สามารถแสดงหลักฐานทางการแพทย์ว่าสมควรได้รับการยกเว้น

สก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย

การที่ยอโควิชถูกเจ้าหน้าที่สนามบินกักตัว เป็นการยืนยันให้เห็นว่า รัฐบาลกลางออสเตรเลียได้ตีตกการตัดสินใจของรัฐบาลรัฐวิคตอเรียที่อนุญาตให้โยโควิชได้รับสิทธิยกเว้นในกรณีนี้

 

สื่อออสเตรเลียรายงานว่าบุคคลอื่น ๆ ในทีมของยอโควิชได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ เพราะมีหลักฐานแสดงการฉีดวัคซีน แต่ยอโควิชไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าเขาได้รับการฉีดวัคซีนครบสองเข็ม หรือมีข้อยกเว้นที่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอร์ริสัน อธิบายเรื่องนี้กับสื่อในวันรุ่งขึ้นว่า "เขาไม่สามารถแสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินได้เมื่อคืนนี้ และมันมีกฎเกณฑ์อยู่”

 

ข่าวระบุว่าเวลาประมาณ 23.30 น. ของวันพุธ (5 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ยอโควิชเดินทางถึงสนามบินเมลเบิร์น เขาได้รับการตรวจประเมินและถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศโดยทันที โดยเจ้าหน้าที่ยกเลิกวีซ่าเขา ณ ตอนนั้น และนำตัวไปกักในสถานกักชั่วคราว ยอโควิชถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองออสเตรเลียนำตัวไปยังโรงแรมของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และตอนนี้ เขากำลังรอว่า ทางการออสเตรเลียจะตัดสินใจอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับตัวเขา

 

แม้ออสเตรเลียจะปกครองด้วยระบบสาธารณรัฐ แต่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าหน้าที่ในการดูแลพรมแดนเป็นของรัฐบาลกลาง ไม่ใช่ของรัฐต่าง ๆ

 

ในขณะที่เทนนิสออสเตรเลีย ผู้จัดการแข่งขัน อนุญาตให้ยอโควิชเข้าร่วมการแข่งขันภายใต้นโยบายเรื่องสิทธิยกเว้น และสิ่งนี้ได้รับการรับรองโดยรัฐวิคตอเรีย แต่เห็นได้ชัดว่า ในตอนนี้รัฐบาลกลางไม่ได้มีนโยบายเดียวกันในเรื่องดังกล่าว

 

นายมอร์ริสัน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองออสเตรเลียได้ทำหนังสือถึงเทนนิสออสเตรเลีย ตั้งแต่เดือนพ.ย. ที่ผ่านมา แจ้งให้ทราบเงื่อนไขการอนุญาตให้บุคคลเข้าประเทศต้องได้รับการฉีดวัคซีน เขากล่าวว่าการติดเชื้อโควิดล่าสุด (หรือหนึ่งครั้งในช่วง 6 เดือนที่แล้ว) ไม่ใช่เหตุผลที่ใช้ได้

 

ผู้นำออสเตรเลียยังกล่าวด้วยว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ เพราะเจ้าหน้าที่จะประเมินว่าจะอนุญาตตามวีซ่าหรือไม่ ก็ต่อเมื่อเดินทางถึงออสเตรเลียแล้ว ไม่ใช่ก่อนเดินทางเข้ามา

 

ลามเป็นความขัดแย้งทางการเมืองและการทูต

เรื่องที่เกิดขึ้นกับยอโควิชก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวาง อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองออสเตรเลีย ออกมาระบุว่า ทางการรัฐวิคตอเรียไม่น่าจะเป็นผู้ที่ถูกตำหนิเพียงฝ่ายเดียว เพราะก่อนจะออกวีซ่าให้นักเทนนิสผู้นี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางก็ต้องเป็นผู้อนุญาต และตัวนายกรัฐมนตรีมอร์ริสันเองก็ออกมาพูดเมื่อวันอังคารว่าในช่วงที่มีการระบาดของโควิด รัฐต่าง ๆ มีอำนาจในการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศ โดยปราศจากการยับยั้งของรัฐบาลกลาง

 

และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการวิพากษ์ว่า บางทีการห้ามยอโควิชเข้าประเทศ จะเป็นการหวังผลทางการเมือง เพราะในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าออสเตรเลียกำลังจะมีการเลือกตั้ง และนายกรัฐมนตรีมอร์ริสันก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิดโอมิครอน ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งให้ความเห็นว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ยอโควิชจึงกลายเป็นแพะรับบาปได้อย่างง่ายดาย

 

ตอนนี้ทีมงานของยอโควิชกำลังโมโหอย่างหนัก และมองว่าเขากำลังถูกลงโทษโดยไม่มีความผิด ขณะที่สื่อออสเตรเลียรายงานว่ามีนักเทนนิส 3 คนที่ได้รับสิทธิยกเว้นให้เข้าประเทศออสเตรเลียได้ ยอโควิชได้ยื่นอุทธรณ์การยกเลิกวีซ่าโดยทันที และยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอการคุ้มครองไม่ให้เขาต้องถูกเนรเทศ ซึ่งอย่างน้อยก็จะทำให้เขาอยู่ในออสเตรเลียได้

 

การตัดสินใจเรื่องนี้จะมีขึ้นในวันจันทร์หน้า (10 ม.ค.) เพราะฉะนั้นในระหว่างนี้ยอโควิชก็จะต้องถูกกักตัวอยู่ต่อไป

พ่อแม่ของโนวัค ยอโควิช ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูกชาย

ขณะที่นายเซอร์ดาน ยอโควิช พ่อของโนวัค ออกมาแถลงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกชาย และแม่ของเขาก็โวยว่า ลูกชายถูกปฏิบัติราวกับนักโทษ ด้านประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ วูซิช ของประเทศเซอร์เบีย ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อนว่า ออสเตรเลียกำลัง"ข่มเหงรังแก" ยอโควิช

 

“คนทั้งประเทศพร้อมหนุนหลัง และอยู่เคียงข้างยอโควิช ที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล” ผู้นำเซอร์เบียกล่าว  ขณะเดียวกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเซอร์เบียก็ได้ประสานเพื่อเรียกร้องให้ทางการออสเตรเลียปล่อยตัวเขาทันที

 

สำหรับบุคคลในแวดวงเทนนิสให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน ราฟาเอล นาดาล นักเทนนิสชื่อก้องโลกชาวสเปน ซึ่งติดโควิดเมื่อเดือนที่แล้ว กล่าวว่า เขารู้สึกเสียใจกับยอโควิช แต่ก็เข้าใจว่าทำไมคนออสเตรเลียที่ต้องเผชิญกับการล็อกดาวน์ถึงไม่พอใจ เขาเห็นว่า ถ้าผู้เชี่ยวชาญบอกว่าต้องฉีดวัคซีน ก็มีความจำเป็นที่คนเราจะต้องฉีดวัคซีน