"ยูไนเต็ด แอร์ไลน์" อลหม่านลดเที่ยวบิน หลังพนักงานติดโควิด 3,000 คน

12 ม.ค. 2565 | 01:09 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2565 | 08:28 น.

"ยูไนเต็ด แอร์ไลน์" ประกาศลดเที่ยวบินทั้งเดือนม.ค. หลังมีรายงานพนักงาน 3,000 คนป่วยโควิด-19 เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้บริษัทจะคุมเข้มสกัดโควิดโดยมีระเบียบบังคับพนักงานทุกคนต้องฉีดวัคซีนป้องกัน แต่โอกาสที่จะติดเชื้อก็ยังมีอยู่ดี 

นายสก็อตต์ เคอร์บี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ สายการบินรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ระบุวานนี้ (11 ม.ค.) ว่า ทางสายการบินจำเป็นต้อง ปรับลดเที่ยวบิน ในเดือนนี้ เนื่องจากมีพนักงานมากถึง 3,000 รายที่แจ้ง ลาป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19

 

ทั้งนี้ ในเอกสารที่แจ้งต่อพนักงาน นายเคอร์บีระบุว่า ทางสายการบินจำเป็นต้องปรับลดจำนวนเที่ยวบินเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีจำนวนพนักงานและทรัพยากรที่เพียงพอในการให้บริการต่อลูกค้า

 

อย่างไรก็ดี ทางบริษัทไม่ได้เปิดเผยจำนวนเที่ยวบินที่มีการปรับลดเนื่องจากเหตุดังกล่าว

 

นายเคอร์บียังเปิดเผยด้วยว่า ยูไนเต็ด แอร์ไลน์มีพนักงานที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนราว 3,000 ราย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 4% ของพนักงานทั้งหมดในสหรัฐ แต่พนักงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่มีรายใดที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่มีรายใดที่เสียชีวิต

\"ยูไนเต็ด แอร์ไลน์\" อลหม่านลดเที่ยวบิน หลังพนักงานติดโควิด 3,000 คน

ข่าวระบุว่า ยูไยเต็ด แอร์ไลน์ นับเป็นสายการบินหนึ่งของสหรัฐที่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา (2564) นายสก็อต เคอร์บี ซีอีโอ และนายเบร็ต ฮาร์ท ประธานบริษัทยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ลงนามในจดหมายเวียนที่ส่งถึงพนักงานทุกคน ขอให้ไปรับวัคซีนโควิดพร้อมทั้งให้อัพโหลดบัตรรับรองการฉีดวัคซีนเข้ามาสู่ระบบฐานข้อมูลพนักงานของบริษัทฯ เพื่อให้บุคลากรทุกคนมีความปลอดภัย และนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของสายการบิน ตลอดถึงพนักงานและลูกค้า

 

ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ถือเป็นสายการบินแรกของสหรัฐที่ออกนโยบายบังคับให้พนักงานทุกคนต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 “บริษัทรู้สึกพอใจกับภาพรวมที่พนักงานส่วนใหญ่คือกว่าร้อยละ 99 ของพนักงานทั้งหมดทำตามกฎระเบียบเรื่องการรับวัคซีน” แถลงการณ์ของบริษัทที่เผยแพร่ในช่วงเดือนก.ย. 2564 ระบุ

ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ เป็นสายการบินแรกของสหรัฐที่ออกนโยบายบังคับพนักงานทุกคนต้องฉีดวัคซีนโควิด

อย่างไรก็ตาม มีพนักงานบางส่วนที่ไม่ยอมเข้ารับวัคซีน ทำให้ทางสายการบินถือว่าไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัท ซึ่งในช่วงเวลานั้น (ก.ย. 2564) ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ประกาศจะเลิกจ้างพนักงานที่ไม่ฉีดวัคซีนจำนวนถึง 593 คน ขณะที่มีพนักงานอีกประมาณ 2,000 คนที่ยื่นเอกสารชี้แจงเหตุผลไม่รับวัคซีน เช่น เหตุผลด้านการรักษาโรคประจำตัวหรือเหตุผลทางศาสนา ตัวเลขพนักงานทั้งสองกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 จากพนักงานทั้งหมดที่บริษัทมีราว 67,000 คน

 

โดยพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างนั้น บริษัทจะปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้กับสหภาพแรงงานของบริษัทเช่นเรื่องการจ่ายเงินชดเชย ส่วนพนักงานที่ขอยกเว้นการรับวัคซีนโควิดด้วยการแสดงเหตุผลประกอบต่างๆ บริษัทจะรอดูแนวคำพิพากษาประกอบการพิจารณาและดำเนินการต่อไป ในกรณีที่มีคดีคล้ายกันนี้ไปสู่การพิจารณาของศาล

 

ข้อมูลอ้างอิง