สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอ้างอิงแหล่งข่าววานนี้ (26 ม.ค.) ระบุว่า “โอเปกพลัส” (OPEC+) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร จะยังคงยึดมั่นตามข้อตกลงปัจจุบันในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วันในเดือนมี.ค. แม้ว่าสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรต่างกดดันให้โอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิตให้มากกว่านี้ เพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ กลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกขององค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก 5 ประเทศ และประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอื่นๆ ที่รวมถึงรัสเซีย ได้มีมติในการประชุมเมื่อเดือน ก.ค. 2564 ให้เพิ่มเป้าการผลิตน้ำมันมาทุกเดือนตั้งแต่เดือนสิงหาคมของปี 2564 เดือนละ 400,000 บาร์เรลต่อวัน จนกระทั่งถึงเดือนเม.ย.2565 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ต้องปรับลดการผลิตมากเป็นประวัติการณ์ไปเมื่อปี 2563
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากรัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตร แสดงความวิตกว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นใกล้ระดับ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล แตะระดับสูงสุดรอบ 7 ปีในขณะนี้ จะส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มกำลังการผลิตในปีนี้ ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำมันในตลาดมากขึ้น
นักวิเคราะห์จากมอร์แกน สแตนลีย์ และเจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีนี้ (2565) ท่ามกลางภาวะน้ำมันตึงตัว และอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในตลาด
ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิง 2 แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับกลุ่มโอเปกพลัสว่า ยังไม่มีสัญญาณว่าจะมีการตัดสินใจใหม่ๆ เกิดขึ้นในการประชุมออนไลน์ในวันที่ 2 ก.พ.นี้ จึงเชื่อว่าประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกพลัสน่าจะตัดสินใจคงแผนปรับเป้าการผลิตน้ำมันในเดือนมีนาคมไว้เช่นเดิม เนื่องจากปริมาณความต้องการน้ำมันโลกเริ่มขยับเพิ่มขึ้น แม้ว่ายังจะมีปัจจัยความเสี่ยงด้านลบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการปรับขึ้นของดอกเบี้ยก็ตาม
ตั้งแต่ปีที่แล้ว โอเปกพลัสไม่ยอมทำตามแรงกดดันจากสหรัฐที่พยายามให้ทางกลุ่มปรับขึ้นผลผลิตน้ำมันให้เร็วกว่าที่ทำมา แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว การปรับขึ้นจำนวนผลผลิตน้ำมันของกลุ่มจะไม่ได้สะท้อนภาพความเท่าเทียมกันในหมู่สมาชิก เพราะบางประเทศยังมีปัญหาข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตอยู่ ซึ่งมีผลทำให้ราคาน้ำมันไม่ได้ปรับขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่
สำนักงานพลังงานสากล รายงานว่า โอเปกพลัสนั้นผลิตน้ำมันออกมาน้อยกว่าเป้าไปถึง 790,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังประเทศสมาชิก เช่น ไนจีเรียและแองโกลาไม่สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตของตนได้