รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นวันนี้ (1 มี.ค.) ว่า ในที่สุดชาติตะวันตกก็กัน สถาบันการเงินรัสเซีย ออกจาก ระบบ SWIFT หลังจากลังเลในตัดสินใจ เพราะเกรงผลกระทบต่อสถาบันการเงินในยุโรปบางประเทศ
การไล่รัสเซียออกจากระบบ SWIFT น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจรัสเซียมาก เนื่องจากรัสเซียต้องพึ่งพารายได้เป็นเงินตราต่างประเทศจากการขายน้ำมันและพลังงานมากกว่า 40% ของงบประมาณ และคิดเป็น 60% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด
ผลของการกันรัสเซียออกจากระบบ SWIFT
ระบบ SWIFT เชื่อมโยงสถาบันการเงินต่างๆมากกว่า 11,000 แห่งครอบคลุมการให้บริการมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก หากรัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินในระบบ SWIFT ย่อมส่งผลต่อการชะงักงันของการส่งออกและกระทบรายได้จำนวนมาก น่าจะทำให้จีดีพีของรัสเซียลดลงไม่ต่ำกว่า 5% ภายในหนึ่งปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 85,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 0.085 ล้านล้านดอลลาร์ (คิดเป็นเงินบาทเท่ากับ 2.72 ล้านล้านบาท)
ทั้งนี้ จีดีพีของรัสเซียอยู่ที่ระดับ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลก
อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการคว่ำบาตรให้รัสเซียออกจาก SWIFT นี้ไม่ได้ทำแบบเบ็ดเสร็จ คือ มีการมุ่งเป้าไปยังธนาคารเป้าหมายเท่านั้น ผลกระทบในการสร้างความเสียหายต่อรัสเซียยังคงจำกัดวงอยู่ ไม่ได้มีการ Cut off Completely แต่เป็น Targeted Cut off ตามการร้องขอของเยอรมนี การ Cut off Completely จะกระทบต่อบริษัทพลังงานในเยอรมันค่อนข้างมาก ขณะที่ สถาบันการเงินในเยอรมันและสหรัฐอเมริกาที่ใช้ระบบ SWIFT สื่อสารและทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินในรัสเซียก็จะได้รับกระทบอย่างมากไปด้วย
นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวย่อมส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและสถาบันการเงินบางแห่ง ต้นทุนในการทำธุรกรรมเพิ่มสูงขึ้น และ ทำให้รัสเซียไม่สามารถส่งออกน้ำมันและพลังงานสู่ตลาดโลกได้ตามปรกติย่อมส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไป มาตรการ SWIFT ไม่น่าส่งผลต่อรัฐบาลปูตินในทางการเมืองหรือการทหารมากนัก
ขณะเดียวกัน รัสเซียอาจจะไปใช้ระบบ China’s Cross-Border Inter-Bank Payment System หรือ คริปโตเคอร์เรนซีแทน อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่สามารถทดแทนระบบ SWIFT ได้
รัสเซีย ไม่ได้เป็นประเทศแรกที่โดนชาติตะวันตกคว่ำบาตรด้วยมาตรการ SWIFT อิหร่านเคยถูกปิดกั้นออกจากระบบ SWIFT ทำให้การค้าต่างประเทศของอิหร่านหายไปกว่า 30%และนำมาสู่การที่อิหร่านยอมเข้าสู่การเจรจากับชาติตะวันตกเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ใน 2-3 ปีต่อมา ไม่สามารถทนต่อการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจได้
รศ.อนุสรณ์ กล่าวเสริมว่า มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ทั้งการปิดกั้นไม่ให้รัสเซียเข้าถึงเทคโนโลยีและตลาดการเงินของชาติตะวันตก การยึดทรัพย์สินของกลุ่มผู้นำรัสเซียที่ใกล้ชิดประธานาธิบดีปูตินและการควบคุมการส่งออกสินค้าบางประเภทไปยังรัสเซีย มาตรการเหล่านี้ส่งผลต่อแรงกดดันทางการเมืองและทางการทหารมากกว่ามาตรการ SWIFT
เราจะได้เห็นสงครามแบบผสมผสานหรือ Hybrid Warfare ในสงครามรัสเซียยูเครนครั้งนี้ มาตรการทางเศรษฐกิจ มาตรการการเงิน มาตรการโจรกรรมทางไซเบอร์ที่สร้างความปั่นป่วนในระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ความระส่ำระสายในระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน จะถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่
การใช้ "มาตรการทางเศรษฐกิจ" และ "มาตรการการเงิน" มาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการทำสงครามจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมด้วยนอกเหนือจากประเทศคู่ความขัดแย้งแห่งสงคราม การปฏิบัติการข่าวสาร (IO) และปฏิบัติการทางจิตวิทยาอย่างมากมาย มีการสร้างข่าวปลอม ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินมากยิ่งขึ้น
บทบาทของเงินคริปโตจะเพิ่มมากขึ้น
รศ.อนุสรณ์ กล่าวว่า คริปโตเคอร์เรนซี มีบทบาทเพิ่มขึ้นเพื่อการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างประเทศในสงครามรัสเซียยูเครน เนื่องจาก คริปโตเคอร์เรนซีมีลักษณะของการเงินแบบกระจายศูนย์ไม่มีศูนย์กลางควบคุม จึงถูกใช้เพื่อรับมือการคว่ำบาตรทางการเงินและเศรษฐกิจของชาติตะวันตกต่อรัสเซียและการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการเงินให้กองทัพยูเครน
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการเกิดฟองสบู่คริปโตเคอร์เรนซีแตก เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อุปสงค์ต่อคริปโตเคอร์เรนซีของรัสเซียและยูเครนไม่เพียงพอต่อการประคับประคองราคาที่ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง ในสถานการณ์สงครามเช่นนี้ คริปโตเคอร์เรนซีที่ได้รับความนิยมจะเป็น Stablecoin ที่ผูกกับเงินดอลลาร์ ประชาชนในยูเครนจะถือ Stablecoin มากกว่าเงินสด เนื่องจากจะปลอดภัยกว่า
สำหรับประเทศไทยหรือสถาบันการเงินไทย ควรระมัดระวังในการถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือในการหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของระบอบปูติน เพราะผลประโยชน์ทางการเงินที่ได้ไม่คุ้มค่ากับผลเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นติดตามมา จุดยืนของไทย ควรเป็นจุดยืนของการต่อต้านสงครามและต่อต้านการรุกรานประเทศอื่นและต่อต้านการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ สนับสนุนการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน สนับสนุนสันติภาพและการเจรจาเพื่อยุติสงครามและยุติความรุนแรงนองเลือดเพิ่มเติม ให้การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเท่าที่ทำได้ต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยไม่จำเป็นต้องแสดงตัวเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
นโยบายต่างประเทศควรวางตัวเป็นกลาง เพราะความขัดแย้งและสงครามรัสเซียยูเครนนั้นมีความซับซ้อนมาก และประเทศไทยไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากปัญหาดังกล่าว จึงไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย
ผู้บริหารนโยบายต่างประเทศต้องรู้ว่าผลประโยชน์แห่งชาติคืออะไร การรักษาสมดุลและการลำดับสำคัญของการดำเนินนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ และรัฐบาลต้องรีบจัดส่งหน่วยงานปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยในยูเครนโดยด่วน