ภาวะ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และการที่ชาติตะวันตกออกมาตรการ คว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสองของโลก ทำให้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) และ เบรนท์ (BRENT) สัญญาส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี นอกจากนี้ นักลงทุนยังมองว่าการที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) มีมติระบายน้ำมันออกจากคลังสำรองจำนวน 60 ล้านบาร์เรลนั้น เป็นการตอกย้ำว่าอุปทานน้ำมันโลกมีไม่เพียงพอที่จะรับมือกับภาวะชะงักงันในขณะนี้
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 7.69 ดอลลาร์ หรือ 8% ปิดที่ 103.41 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดในรอบ 8 ปี หรือนับตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 2557 และเป็นการพุ่งขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ในวันเดียวที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563
ขณะที่ สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. พุ่งขึ้น 7 ดอลลาร์ หรือ 7.2% ปิดที่ 104.97 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดในรอบ 8 ปีเช่นกัน หรือนับตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. 2557
นักวิเคราะห์เผยว่า สัญญาน้ำมันดิบ WTI ทะยานขึ้นปิดเหนือระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ท่ามกลางความวิตกกังวลว่า การที่รัสเซียโจมตียูเครนและการที่ชาติมหาอำนาจประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย จะส่งผลกระทบต่อภาวะอุปทานน้ำมันในตลาด
ก่อนหน้านี้ แคนาดาได้ประกาศระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ส่วนสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกได้ประกาศตัดธนาคารรัสเซียบางแห่งออกจากระบบ SWIFT ขณะเดียวกันสหรัฐได้ประกาศอายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซียในสหรัฐ และห้ามชาวอเมริกันทำธุรกรรมกับธนาคารกลางรัสเซีย
นอกจากภาครัฐแล้ว บริษัทพลังงานเอกชนหลายแห่งยังได้คว่ำบาตรรัสเซียเช่นกัน ซึ่งรวมถึงบริษัทบีพีและเชลล์ซึ่งประกาศว่าจะถอนตัวออกจากการดำเนินงานในรัสเซีย ขณะที่บริษัทโททาล เอนเนอร์จีส์ ประกาศว่าจะไม่ลงทุนเพิ่มในรัสเซีย
บริษัทนอร์ดสตรีม 2 เอจี (Nord Stream 2 AG) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ที่สามารถจัดส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังเยอรมนี ก็กำลังเตรียมยื่นล้มละลายหลังจากถูกสหรัฐคว่ำบาตรก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ทางบริษัทได้ประกาศยุติสัญญาว่าจ้างพนักงาน โดยระบุสาเหตุจากการถูกสหรัฐคว่ำบาตร
ทางด้าน IEA มีมติระบายน้ำมันจำนวน 60 ล้านบาร์เรลออกจากคลังสำรองเพื่อสกัดราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นในตลาด อย่างไรก็ดี นักลงทุนมองว่า การดำเนินการดังกล่าวของ IEA ถือเป็นการตอกย้ำว่า อุปทานน้ำมันในตลาดโลกมีไม่เพียงพอที่จะรับมือกับภาวะชะงักงันที่เกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนในปัจจุบัน
จากสถานการณ์ดังกล่าว นักลงทุนพากันจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันนี้ (2 มี.ค.) ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อกำหนดนโยบายการผลิตสำหรับเดือนเม.ย. แหล่งข่าวคาดการณ์ว่าโอเปกพลัสจะมีมติยึดมั่นตามข้อตกลงเดิมในการประชุมครั้งนี้ โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วันสำหรับเดือนเม.ย.
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ที่มีกำหนดเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในวันนี้(2 มี.ค.) เช่นกัน