ดีมานด์ทองคำทั่วโลกพุ่งแรง วิกฤตเศรษฐกิจ-สงครามยูเครน หนุนแรงซื้อ

29 เม.ย. 2565 | 03:25 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2565 | 10:34 น.

วิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบกับภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน หนุนแรงซื้อ ทำอุปสงค์ทองคำทั่วโลกพุ่งแรงในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ราคาทองปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 5% ในไตรมาส 1/2565 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564

สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยวานนี้ (28 เม.ย.) ว่า ความต้องการทองคำทั่วโลก พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 34% สู่ระดับ 1,234 ตันในไตรมาส 1/2565 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเมืองระดับโลก ได้ผลักดันให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำซึ่งเป็น สินทรัพย์ที่ปลอดภัย

 

WGC ระบุว่า "ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยผลักดันให้นักลงทุนแห่ซื้อทองคำ และทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นอย่างมาก โดยราคาทองปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 5% ในไตรมาส 1/2565 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564"

 

"ความต้องการทองคำของกองทุน ETF แข็งแกร่งมากเป็นพิเศษ โดยมีการถือครองทองคำเพิ่มขึ้น 269 ตันในไตรมาส 1 สู่ระดับ 3,836 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดอันดับที่สองนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563"

นักลงทุนแห่เข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

รายงานของ WGC ระบุว่า ปัจจัยที่ผลักดันให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำอย่างคึกคักในไตรมาส 1/2565 ได้แก่

  • ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
  • ความอ่อนแอของตลาดหุ้น
  • อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ไม่อาจคาดเดาได้

 

เหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำอย่างคึกคัก แม้ธนาคารกลางหลายประเทศจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วก็ตาม

 

อย่างไรก็ดี การลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำในไตรมาส 1 ลดลง 20% เมื่อเทียบรายปี แตะที่ระดับ 282 ตัน ขณะที่ความต้องการอัญมณีลดลง 7% แตะที่ 474 ตัน โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการล็อกดาวน์เมืองสำคัญ ๆ ในประเทศจีน

 

ทั้งนี้ WGC คาดการณ์ว่า ความต้องการผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะลดลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2 เนื่องจากจีนขยายพื้นที่การล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19

รายงานของ WGC ยังระบุด้วยว่า ธนาคารกลางทั่วโลกได้เข้าซื้อทองคำเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในไตรมาส 1/2565 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 โดย WGC ได้ทำการสำรวจมุมมองของธนาคารทั่วโลกที่มีต่อทองคำ ซึ่งพบว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเหตุผลอันดับแรกที่ทำให้ธนาคารกลางเข้าถือครองทองคำ

 

ส่วนอุปทานทองคำโดยรวมในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 4% ในไตรมาส 1 แตะที่ 1,156.6 ตัน เนื่องจากอุปทานที่สูงขึ้นทั้งในเหมืองและการรีไซเคิล โดย WGC ระบุว่า การพุ่งขึ้นของราคาและการชะลอตัวของเศรษฐกิจเป็นปัจจัยผลักดันให้อัตราการรีไซเคิลทองคำปรับตัวขึ้น

 

นายคริสฮาน โกพอล นักวิเคราะห์ตลาดของ WGC กล่าวว่า แม้ราคาทองคำปรับตัวลงในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐและการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด แต่เขาเชื่อว่า ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้อและวิกฤตการณ์ในยูเครน จะยังคงเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำต่อไป