สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานว่า การประเมินดังกล่าวเกี่ยวกับเวที การประชุมระดับผู้นำ “อาเซียน-สหรัฐ” สมัยพิเศษ ที่กำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค. เกิดขึ้นขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคต้องการลดการพี่งพาทางการค้าและการลงทุนจาก จีน ที่ “มากเกินไป”
แอรอน ราบีน่า นักวิจัยแห่งมูลนิธิ Asia Pacific Pathways to Progress Foundation ที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ กล่าวกับวีโอเอว่า ที่ผ่านมาสหรัฐ และอาเซียนมีการเน้นย้ำถึงมิติด้านการเมืองและความมั่นคง แต่ยังตามหลังจีนในเรื่องความคิดริเริ่มทางเศรษฐกิจ
เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสหรัฐฯที่จะพบกับผู้นำอาเซียนมีใครบ้าง?
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะพบกับผู้นำอาเซียนในวันศุกร์นี้ (13 พ.ค.) เพื่อ “แสดงให้เห็นว่าอาเซียนมีบทบาทหลักในการหาทางออกที่ยั่งยืนต่อสิ่งท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดหลายประเด็นในภูมิภาค” ตามถ้อยแถลงของโฆษกทำเนียบขาวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานว่า ตามกำหนดการ ณ ขณะนี้ ของการประชุมสุดยอดที่จะเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ (12-13 พ.ค.) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แคเธอริน ไท และรัฐมนตรีพาณิชย์อเมริกัน จีน่า ไรมอนโด อยู่ในบรรดาตัวแทนระดับสูงของสหรัฐ ที่จะพบกับผู้นำอาเซียนเช่นกัน
เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะมีส่วนในการเจรจาประเด็นเรื่องการค้าและการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศอาเซียน
ตัวอย่างอิทธิพลทางการค้าของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จีน คือประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนมาตั้งแต่ค.ศ. 2008 และมูลค่าการค้าระหว่างจีนและอาเซียน ในปี ค.ศ. 2020 สูงถึง 731,900 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของสื่อ Global Times ของทางการจีน
ตัวเลขดังกล่าวแซงหน้า 362,200 ล้านดอลลาร์ ของการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับอาเซียนมากกว่าสองเท่า
อย่างไรก็ตาม หากเป็นเรื่องการลงทุนจากภาคเอกชน สหรัฐยังเป็นต่อจีน โดยการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนอเมริกันในอาเซียนสูงถึง 34,700 ล้านดอลลาร์ เทียบกับ 12,000 ล้านดอลลาร์ของนักลงทุนจีน
แต่จีนก็ลงทุนผ่านโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) อีกช่องทางหนึ่ง
ที่น่าสนใจคือจีนมี โครงการ Belt and Road Initiative หรือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” มูลค่ากว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมีหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับประโยชน์ เช่น กัมพูชา และมาเลเซีย โดยจีนสร้างยุทธศาสตร์ 9 ปี ภายใต้โครงการนี้ในการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานพาดผ่านเอเชียและยุโรปเพื่อเปิดประตูการค้า
ขณะที่สหรัฐเองไม่มีโครงการที่เทียบได้กับ Belt and Road Initiative ของจีน แต่มีโครงการเมื่อสองปีก่อนเรื่องการแก้ปัญหาความแห้งแล้งและการระบาดของโคโรนาไวรัส ใน 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง
ชาห์ริมาน ล็อคแมน นักวิเคราะห์แห่ง Institute of Strategic and International Studies ที่มาเลเซียอธิบายว่า การที่จีนสามารถดำเนินการโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ได้อย่างชัดเจนก็เพราะเป็นการผลักดันของรัฐบาลปักกิ่ง ตัวเขาเองมองว่า รัฐบาลจีนมีเครื่องมือทุกอย่างในการสนับสนุนโครงการ BRI
ประเทศอาเซียนมาประชุมด้วยความหวังอะไรบ้างเกี่ยวกับความสัมพันธ์สหรัฐและจีน
เจยันต์ มีน่อน นักวิจัยอาวุโสแห่ง โครงการศึกษาเศรษฐกิจส่วนภูมิภาคแห่งสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute ที่สิงคโปร์ กล่าวว่า ประเทศอาเซียนอยากให้สหรัฐพยายามมากขึ้นในการยุติสงครามการค้ากับจีน ซึ่งกินเวลามานาน 4 ปีแล้ว “ผู้นำอาเซียนอาจจะต้องการความมั่นใจว่าจะมีการหาทางออกให้กับสงครามการค้าในภายภาคหน้า” มีน่อนกล่าว
ในเรื่องนี้ ลิ่ว เผิงหยู โฆษกประจำสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน เร่งเร้าให้สหรัฐแข็งขันมากขึ้น โดยจีนหวังให้อเมริกาเลิกความคิดแบบสงครามเย็น เมื่อมีส่วนในความร่วมมือกับประเทศในเอเชียตะวันออก เพื่อให้เกิดสันติภาพ การพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้
คาดกันว่าจะเกิดการบรรลุข้อตกลงกันด้านใดบ้างจากการประชุมครั้งนี้?
แอรอน ราบีน่า นักวิจัยแห่งมูลนิธิ Asia Pacific Pathways to Progress Foundation กล่าวว่า แม้การประชุมสุดยอดในสัปดาห์นี้ไม่น่าจะทำให้เกิดข้อตกลงทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ แต่ให้จับตาดู “ภาษา” ที่ใช้ในแถลงการณ์ร่วมระหว่างสหรัฐและอาเซียน เพราะแถลงการณ์ร่วมอาจบ่งบอกถึงก้าวต่อ ๆ ไปของความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหรัฐ
ขณะที่ เจยันต์ มีน่อน นักวิจัยอาวุโสแห่ง โครงการศึกษาเศรษฐกิจส่วนภูมิภาคแห่งสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute ที่สิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า แถลงการณ์ร่วมอาจแตะเรื่องความร่วมมือเพื่อป้องกันวิกฤตด้านสาธารณสุข รวมทั้งความร่วมมือเรื่องสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจจากพลังงานสะอาดด้วย
ที่มา: วีโอเอ