สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา รายงานเกี่ยวกับ การเยือนเอเชียของผู้นำสหรัฐ ว่า ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะพบหารือกับ ประธานาธิบดียูน ซุก-ยอล ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหาการระบาดของโควิด-19 และการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ
ส่วนที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผู้นำสหรัฐจะร่วมหารือกับบรรดา ผู้นำประเทศสมาชิกจตุภาคี "Quad" ซึ่งได้แก่ นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น, นายนเรนธรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย และนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ซึ่งอาจเป็นนายกฯ คนปัจจุบัน คือนายสก็อตต์ มอร์ริสัน หรือคู่แข่ง คือนายแอนโธนี อัลบานีส ขึ้นอยู่กับว่าใครชนะการเลือกตั้งในวันเสาร์นี้ (21 พ.ค.)
การประชุมกลุ่ม Quad ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สี่นับตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มความร่วมมือในแถบอินโด-แปซิฟิกขึ้นมาเพื่อคานอำนาจจีนเมื่อปีค.ศ. 2017 (พ.ศ.2560)
ยุทธศาสตร์ของสหรัฐในแถบอินโด-แปซิฟิก รวมถึงการเยือนเอเชียครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าภูมิภาคนี้ยังคงมีความสำคัญในอันดับต้น ๆ ของนโยบายต่างประเทศสหรัฐในสมัยประธานาธิบดีไบเดน และจีนยังคงเป็นความท้าทายด้านยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด แม้ในขณะที่กำลังเกิดสงครามในยูเครนก็ตาม
นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของปธน.ไบเดน กล่าวว่า ความร่วมมือ "ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก" และ "ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก" กับบรรดาพันธมิตรของสหรัฐในขณะนี้ คือการสร้าง "บูรณาการ" และ "การพึ่งพากันและกัน" ในเชิงยุทธศาสตร์
"ความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์ของประธานาธิบดีไบเดนในการร้อยเรียงทั้งสองฝั่งมหาสมุทรเข้าด้วยกันนั้น จะกลายเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นด้านนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐชุดนี้" ซัลลิแวนกล่าว
จับตามอง 5 ประเด็นสำคัญระหว่างไบเดนเยือนเอเชีย
1. การคานอำนาจจีน
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ปธน.ไบเดนจะใช้โอกาสนี้ในการยืนยันพันธะกิจของสหรัฐในการทำให้แถบอินโด-แปซิฟิก เสรีและเปิดกว้าง และใช้วิกฤติในยูเครนเป็นตัวอย่างว่าการใช้กำลังทหารเพื่อเปลี่ยนสถานะของประเทศใดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ทั้งในเอเชียและยุโรป
นายโรเบิร์ต ดาลีย์ ผู้อำนวยการสถาบัน Kissinger Institute on China and the United States ของ Wilson Center กล่าวว่า สหรัฐต้องการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีแรงสนับสนุนไต้หวันมากมายทั่วภูมิภาคนี้ พร้อมกับการแสดงศักยภาพของพันธมิตรที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ในลักษณะเดียวกับความร่วมมือของสหรัฐกับยุโรปในสงครามยูเครน
นอกจากนี้ ประเทศจตุภาคีกลุ่ม Quad จะหารือกันเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และการจัดทำข้อตกลงด้านความมั่นคงฉบับล่าสุดระหว่างจีนกับหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าจีนอาจตั้งฐานทัพในน่านน้ำที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และสร้างภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อออสเตรเลียที่มีพรมแดนทางทะเลติดกับหมู่เกาะโซโลมอนได้
ด้านนายชาร์ลส เอเดล แห่ง Center for Strategic and International Studies ให้ความเห็นว่า การพัฒนาของกองทัพจีนในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กดดันให้ประเทศในกลุ่ม Quad ต้องเร่งพัฒนากองทัพของตนเช่นกัน และการที่จีนทุ่มงบประมาณลงไปในด้านกลาโหมก็ส่งผลให้หลายประเทศในภูมิภาคนี้ รวมทั้งสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และไต้หวัน ต่างเพิ่มการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสหรัฐด้วย
2. แนวร่วมต่อต้านรัสเซีย
นักวิเคราะห์เชื่อว่า ปธน.ไบเดน จะพยายามหาแนวร่วมในเอเชียเพื่อเพิ่มมาตรการลงโทษรัสเซียและประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จากการรุกรานยูเครน
ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรเข้มแข็งที่สุดของสหรัฐในเอเชีย ได้ใช้มาตรการลงโทษทางการเงินและการส่งออกต่อรัฐบาลรัสเซีย รวมทั้งลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย และเสนอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ยูเครน นอกจากนี้ ยังร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางทหารกับอังกฤษเพื่อให้สามารถส่งทหารไปร่วมฝึกและซ้อมรบกับอังกฤษได้
ด้านรัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดหาความช่วยเหลือให้แก่ยูเครนและสนับสนุนให้ประชาคมโลกใช้มาตรการลงโทษต่อรัสเซีย แม้จะมิได้ประกาศลงโทษโดยตรง แต่ประธานาธิบดีคนใหม่ได้รับปากไว้ว่าจะเพิ่มความร่วมมือกับสหรัฐซึ่งอาจหมายถึงการเปิดโอกาสให้ปธน.ไบเดน ขอความสนับสนุนจากเกาหลีใต้ในเรื่องที่เกี่ยวกับยูเครนได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์เชื่อว่า ไม่ว่าผู้มัครคนใดจะชนะการเลือกตั้งของออสเตรเลีย ทั้งคู่ต่างมีนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐ ซึ่งน่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อยูเครนและรัสเซียที่ใช้อยู่ในขณะนี้ คือการจัดหาความช่วยเหลือด้านการทหารและด้านมนุษยธรรมแก่ยูเครน ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการลงโทษรัสเซีย
สำหรับอินเดียนั้นค่อนข้างแตกต่างจากประเทศอื่นที่กล่าวมาในประเด็นรัสเซีย นายอพาร์นา พันเด ผู้อำนวยการ Hudson Institute's Initiative on the Future of India and South Asia ให้ความเห็นว่า สหรัฐส่งสัญญาณว่ายังไม่สามารถกดดันอินเดียมากเกินไปในเรื่องนี้ เนื่องจากอินเดียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ และเป็นคู่แข่งสำคัญของจีนในภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวกับสำนักข่าววีโอเอว่า การที่อินเดียระงับการเจรจาซื้อเฮลิคอปเตอร์ 10 ลำจากรัสเซียเมื่อเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของสงครามในยูเครน อาจเปิดโอกาสให้กลุ่ม Quad โน้มน้าวรัฐบาลอินเดียให้มีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อรัสเซียมากขึ้นได้
3. กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก
ที่กรุงโตเกียว ปธน.ไบเดน มีกำหนดเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework - IPEF) ซึ่งเป็นความพยายามสร้างเขตเศรษฐกิจเสรีข้ามแปซิฟิกแทนข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่สหรัฐถอนตัวไปเมื่อปี 2560 ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
อย่างไรก็ตาม การจัดทำกรอบเศรษฐกิจ IPEF นี้ยังต้องมีการหารือกันอีกมาก โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรฐานต่าง ๆ ที่จะนำมาบังคับใช้ นอกจากนี้ คาดกันว่า IPEF จะยังไม่แตะเรื่องการยกเลิกกำแพงการค้าระหว่างประเทศสมาชิก เช่น มาตรการลดภาษีหรือการเปิดตลาดสินค้าอย่างเสรี เนื่องจากบรรดาเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลสหรัฐ และสมาชิกพรรคเดโมแครตในรัฐสภา ยังคงเกรงว่าการเปิดตลาดอเมริกาเพื่อรับสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้นนั้น อาจส่งผลกระทบต่อคะเนนเสียงในการเลือกตั้งกลางเทอมช่วงปลายปีนี้ได้ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าประเด็นนี้ทำให้ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐในแถบเอเชียยังคงขาดอิทธิพลและแรงจูงใจเมื่อเทียบกับจีน
ทั้งนี้ สหรัฐใช้วิธีเลือกประเทศที่จะเข้าร่วมกับ IPEF โดยให้อำนาจประเทศสมาชิกในการเข้าร่วมเฉพาะในส่วนของมาตรฐานจำเพาะที่ประเทศนั้นสนใจและเห็นว่าสอดคล้องกับผลประโยชน์ของตนเท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วม รวมทั้ง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย
4. วิกฤติเกาหลีเหนือ
ประเด็นความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลีและการระบาดของโควิด-19 ในเกาหลีเหนือ ยังเป็นประเด็นสำคัญในการเยือนเอเชียครั้งนี้ด้วย
นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของปธน.ไบเดน กล่าวว่า สหรัฐเตรียมพร้อมกับทุกเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการยั่วยุจากเกาหลีเหนือในขณะที่ปธน.ไบเดนเยือนกรุงโซลหรือกรุงโตเกียวด้วย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธรอบใหม่ในช่วงเดียวกับที่มีการประกาศพบผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสหลายรายในกรุงเปียงยาง นำไปสู่การใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าอาจเป็นโอกาสที่ประชาคมโลกจะเสนอความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนือเพื่อรับมือการระบาด และนำเปียงยางกลับเข้าสู่การหารือกับสหรัฐและประเทศต่าง ๆ มากขึ้น
5. รับมือการระบาดโควิด-19
เมื่อปีที่แล้ว ประเทศจตุภาคีกลุ่ม Quad ประกาศความร่วมมือจัดหาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1,000 ล้านโดสให้แก่ประเทศในแถบอินโด-แปซิฟิกภายในปีนี้ (2565) โดยคาดว่าในการประชุมที่กรุงโตเกียวครั้งนี้ กลุ่ม Quad จะหารือกันเรื่องการแก้ปัญหาการแจกจ่ายวัคซีนดังกล่าวซึ่งชะงักงันอยู่ในขณะนี้
นอกจากนี้ คาดว่า ปธน.ไบเดน จะหารือกับบรรดาผู้นำในเอเชียเรื่องภาวะโลกร้อน ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และการแก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานสินค้า โดยเฉพาะชิปคอมพิวเตอร์ ระหว่างการเยือนเอเชียครั้งนี้ด้วย
ที่มา: วีโอเอ