ราคาน้ำตาล สัญญาน้ำตาลที่มีการซื้อขายในตลาดลอนดอน พุ่งขึ้นกว่า 1% เมื่อวันพุธ (25 พ.ค.) ขานรับมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาล ของ อินเดีย ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ท่ามกลางภาวะ วิกฤตอาหารโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียออกแถลงการณ์จำกัดการส่งออกน้ำตาลเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำตาลภายในประเทศ โดยแถลงการณ์ระบุว่า อินเดียจะจำกัดการส่งออกน้ำตาลที่ระดับ 10 ล้านตันในฤดูกาลนี้ โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ต.ค. บริษัทส่งออกของอินเดียจะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลก่อนที่จะทำการส่งออกน้ำตาลไปยังต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินเดียมีแผนจำกัดการส่งออกที่ระดับ 8 ล้านตัน แต่ได้ตัดสินใจเพิ่มการส่งออกเป็น 10 ล้านตัน เนื่องจากมีการปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลภายในประเทศ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า หากอินเดียตั้งเป้าระงับการส่งออกน้ำตาลที่ 10 ล้านตัน นั่นก็แปลว่าอินเดียใกล้จะหยุดส่งออกน้ำตาลในเร็ว ๆนี้แล้ว เนื่องจากส่งมอบน้ำตาลไปยังคู่ค้าที่ทำสัญญาไว้ใกล้ครบ 10 ล้านตันแล้ว หลังจากนั้นจนถึงเดือนกันยายนก็จะผลิตน้ำตาลไว้บริโภคในประเทศเพียงอย่างเดียว เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในช่วงฤดูผลิตน้ำตาล
กระทรวงอาหารของอินเดียระบุในถ้อยแถลงว่า คาดว่าการส่งออกน้ำตาลจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีการตลาดนี้ โดยมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไว้ประมาณ 9 ล้านตัน และส่งออกไปแล้วกว่า 7.8 ล้านตัน
ด้านสมาคมโรงฟอกน้ำตาลอินเดียได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลในปีนี้สู่ระดับ 35.5 ล้านตัน จากเดิมที่ระดับ 31 ล้านตัน
มีตัวเลขคาดการณ์ว่า หลังจากที่จำกัดการส่งออกน้ำตาลที่ระดับ 10 ล้านตันในฤดูกาลนี้ จะทำให้อินเดียมีสต็อกน้ำตาลราว 6 ล้านตัน ณ วันที่ 1 ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาล 2565/66 โดยจะเพียงพอสำหรับความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาลในไตรมาส 4/65
อินเดียเป็นประเทศที่ผลิตน้ำตาลมากที่สุดในโลก และส่งออกสูงเป็นอันดับ 2 รองจากบราซิล
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค.ว่า อินเดียมีแผนจะจำกัดการส่งออกน้ำตาลเพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำตาลแพง และสร้างความมั่นใจว่าจะมีปริมาณน้ำตาลอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ หลังจากที่บริษัทอินเดียได้ส่งออกน้ำตาลจำนวนมากในตลาดโลก
เมื่อกลางเดือนพ.ค. อินเดียอ้างถึงอัตราเงินเฟ้อและความต้องการความมั่นคงด้านอาหารของตนเอง จึงระงับการส่งออกข้าวสาลี หลังสงครามยูเครนทำข้าวสาลีในตลาดโลกขาดแคลน และการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศจนเกิดภาวะคลื่นความร้อนในพื้นที่เพาะปลูกของอินเดีย ทำให้ผลผลิตข้าวสาลีในประเทศตกต่ำลง
การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะยิ่งผลักดันให้ราคาอาหารโลกพุ่งสูงขึ้นอีก หลังหลายประเทศทั่วโลกได้จำกัดหรือระงับการส่งออกสินค้าอาหารนานาชนิดไปแล้วก่อนหน้านี้