มีผล 1 มิ.ย.65 มาเลเซียระงับส่งออกไก่ กระทบใครบ้าง

01 มิ.ย. 2565 | 00:32 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2565 | 07:50 น.

มาเลเซียประกาศระงับส่งออกไก่เดือนละ 3.6 ล้านตัว เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 เป็นต้นไปจนกว่าราคาเนื้อไก่และการผลิตเนื้อไก่ในประเทศจะมีสเถียรภาพ มาตรการนี้เป็นไปตามเสียงเรียกร้องของประชาชนเรื่องราคาเนื้อไก่ที่แพงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็กระทบผู้นำเข้าหลายประเทศ

มาตรการระงับการส่งออกไก่ เดือนละ 3.6 ล้านตัวของ รัฐบาลมาเลเซีย ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23 พ.ค.) โดยนายอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ นายกรัฐมนตรี เป้าหมายก็เพื่อแก้ปัญหาราคาเนื้อไก่ที่พุ่งสูงขึ้นและการขาดแคลนเนื้อไก่ในประเทศ มาตรการดังกล่าวเริ่มมีผลใน วันที่ 1 มิ.ย.2565 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์ราคาและอุปทานเนื้อไก่ในประเทศจะมีสเถียรภาพ

นายอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

ทั้งนี้ มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของไทย กำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น 2.2% เมื่อเดือนมีนาคม ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น 4% นอกจากมาตรการควบคุมการส่งออกเนื้อไก่แล้ว มาเลเซียยังมี มาตรการอื่น ๆเพื่อแก้ไขปัญหาราคาและผลผลิตเนื้อไก่ภายในประเทศ ประกอบด้วย

  • ส่งเสริมให้มีการเก็บสต็อกเนื้อไก่สำรองไว้ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพของห้องเย็น
  • ยกเลิกใบอนุญาตนำเข้าเนื้อไก่กับบางประเทศ
  • ให้คำมั่นว่าจะสอบสวนข้อร้องเรียนเรื่องที่มีการขายเนื้อไก่เกินราคาควบคุม
  • ป้องกันการผูกขาดราคาโดยกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ในตลาด
  • ลดความซับซ้อนของขั้นตอนในการให้เงินอุดหนุนกับผู้ผลิตไก่ รวมทั้งขั้นตอนการอนุญาตโรงฆ่าสัตว์ในต่างประเทศเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตไก่ให้มากขึ้น
  • จะอนุญาตให้มีการนำเข้าไก่ทั้งตัวและไก่หั่นเป็นชิ้นเพื่อเพิ่มปริมาณไก่

ที่มาของมาตรการระงับการส่งออก

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียแถลงชัดถึง “ที่มา” ของมาตรการว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ และถือว่าราคาเนื้อไก่ที่แพงขึ้น รวมถึงอุปทานเนื้อไก่ที่ต่ำในปัจจุบัน เป็นปัญหาจริงจังที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวมาเลเซียเป็นอย่างมาก การประกาศระงับการส่งออกเนื้อไก่ของทางการ มีขึ้นหลังจากมีเสียงเรียกร้องหนาหูจากประชาชนเรื่องราคาเนื้อไก่ที่แพงขึ้นมาก และหลังจากที่ได้มีการเรียกประชุมผู้ค้าและจำหน่ายสัตว์ปีกรายใหญ่ของประเทศ 12 ราย เมื่อวันจันทร์ (23 พ.ค.) เพื่อหารือถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือ และจัดหาซัพพลายเนื้อไก่ในประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจุบัน รัฐบาลมาเลเซียตรึงราคาขายปลีกเนื้อไก่สด ห้ามเกินกิโลกรัมละ 8.90 ริงกิต หรือประมาณ 69.22 บาท และประกันราคาไก่ในราคา 60 เซนต์ ต่อกิโลกรัม (ราว 4.67 บาท) ระหว่างวันที่ 5 ก.พ. จนถึง 4 มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ รัฐบาลเพิ่งจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่เกษตรกรไปเพียง 50 ล้านริงกิตเท่านั้น ( ประมาณ 388.85 ล้านบาท) ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องเผชิญกับต้นทุนในการผลิตไก่สูงขึ้นจากราคาอาหารสัตว์ที่นำมาเลี้ยงไก่แพงขึ้น

 

ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา มีการปรับราคาอาหารสัตว์ (อาหารเลี้ยงไก่) ถึง 2 ครั้ง ส่งผลกระทบโดยตรงคือ ราคาขายไก่ในมาเลเซียถูกปรับแพงขึ้นตามต้นทุนไปด้วย และทำให้ปริมาณไก่ลดน้อยลง จนร้านขายเนื้อไก่บางร้านจำเป็นต้องจำกัดการซื้อไก่ของประชาชน เพราะปริมาณไก่ที่ร้านค้ารายย่อยได้รับมีปริมาณลดน้อยลง

ร้านขายเนื้อไก่บางร้านจำเป็นต้องจำกัดการซื้อไก่ของประชาชน

สิงคโปร์กระทบหนักสุด

คาดว่ามาตรการระงับการส่งออกไก่ของมาเลเซียครั้งนี้ จะส่งผลกระทบหลายประเทศที่นำเข้าเนื้อไก่จากมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง บรูไน รวมทั้งไทย

 

รายที่หนักสุดคือ สิงคโปร์ เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเนื้อไก่จากมาเลเซีย โดยสิงคโปร์นำเข้าเนื้อไก่จากมาเลเซียถึง 1 ใน 3 ของปริมาณนำเข้าเนื้อไก่ทั้งหมด หรือราว 34% (ข้อมูลจากคณะกรรมการอาหารของสิงคโปร์ หรือ SFA ในปี 2564) รองจากตลาดหลักคือ บราซิล ที่สิงคโปร์นำเข้าเนื้อไก่ 49% และจากสหรัฐอเมริกา 12%    

 

ทั้งนี้ เกือบทั้งหมดที่สิงคโปร์นำเข้าจากมาเลเซียเป็นไก่เป็น (ไก่มีชีวิต) ที่นำมาเข้าโรงแปรรูปแช่แข็งในสิงคโปร์ มีเพียงส่วนน้อยที่นำเข้าในรูปไก่แช่แข็ง

 

SFA ระบุว่า มาตรการระงับส่งออกเนื้อไก่เดือนละ 3.6 ล้านตัวของมาเลเซีย จะส่งผลทำให้เนื้อไก่แช่เย็นขาดแคลนชั่วคราวในประเทศสิงคโปร์ ร้านค้าเนื้อไก่บางร้านในตลาดสดของสิงคโปร์เผยว่า หลังจากมาเลเซียห้ามส่งออกเนื้อไก่ พวกเขาอาจต้องปิดร้านชั่วคราว

 

รัฐบาลสิงคโปร์พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการทำงานใกล้ชิดกับบริษัทผู้นำเข้าเนื้อไก่ เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และแนะนำให้ประชาชนซื้อเนื้อไก่ในปริมาณเท่าที่จำเป็น

 

ข้อมูลในปี 2563 ชี้ว่า มาเลเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ปีกมูลค่า 18.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เป็นผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ปีกรายใหญ่อันดับที่ 49 ของโลก และหากคิดเป็นปริมาณ ข้อมูลของกระทรวงเกษตรมาเลเซียระบุว่า สถิติการส่งออกเนื้อไก่และเนื้อเป็ดของประเทศ มีปริมาณรวมกัน 42.3 ล้านตัน และส่งออกไก่เป็น (ไก่มีชีวิต) มากกว่า 49 ล้านตัว

 

ไทยนำเข้าน้อย ในทางกลับกันอาจได้อานิสงส์ส่งออกได้เพิ่มขึ้น

สำหรับประเทศไทย สถิติปี 2563 ชี้ว่า มีการนำเข้าสินค้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ปริมาณน้อยมาก เนื่องจากประเทศไทยเองนั้นเป็นประเทศผู้ผลิตเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์รายใหญ่ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่ที่ไทยนำเข้านั้นเป็นการนำเข้าวัตถุดิบไก่ชิ้นเนื้อและเครื่องในแช่แข็งเพื่อนำไปแปรรูปและส่งออกต่อไป โดยในปี 2563 ไทยนำเข้าสินค้าเนื้อไก่ทั้งหมดปริมาณ 1,048 ตัน คิดเป็นมูลค่า 37.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.11% จากปีก่อนหน้า  

 

ส่วนช่วงเดือนม.ค.-พ.ค. 2564 มูลค่าการนำเข้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ของไทยเพิ่มขึ้น 23.93% เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 โดยปริมาณการนำเข้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ของไทยจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณการส่งออกสินค้าไก่แปรรูปของไทย

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในวิกฤตอาหารของโลกและท่ามกลางการจำกัดการส่งออกอาหารของประเทศต่าง ๆ  อุตสาหกรรมอาหารของไทยได้รับอานิสงส์จะส่งออกได้เพิ่มขึ้นทั้งเนื้อไก่ อาหารกระป๋อง และอื่น ๆ แม้เวลานี้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและผู้ประกอบการจะสูงขึ้นมากจากวัตถุดิบอาหารสัตว์แพง ปุ๋ยแพง ทำให้ราคาสินค้าในประเทศและสินค้าส่งออกต้องปรับขึ้นราคา แต่ตรงนี้ไม่มีปัญหาเพราะขณะนี้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศมีมาก

 

สอดคล้องกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ที่มองว่า แม้ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาสินค้า เงินเฟ้อ และค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก และเกิดวิกฤติขาดแคลนด้านอาหาร แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสของไทยที่มีปริมาณอาหารเพียงพอบริโภคในประเทศ จะสร้างรายได้จากการส่งออกอาหารเพิ่มในฐานะหนึ่งในแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก หรือ “ครัวโลก”

 

โดยสินค้าอาหารสำเร็จรูป สินค้าข้าว เนื้อไก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาล และธัญพืช ที่หลายประเทศระงับการส่งออก จะได้รับอานิสงส์ในสถานการณ์ครั้งนี้ เห็นได้ชัดจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยภาพรวมไตรมาสแรกปี 2565 สามารถทำรายได้ 324,415 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าไก่ ขยายตัวถึง 20% เป็นต้น