เนื่องในโอกาส การเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 70 ปี (Platinum Jubilee) ของ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร โดยทรงได้ชื่อว่าเป็นพระประมุขที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ชาวอังกฤษกว่า 22,000 คนพร้อมสมาชิกชั้นสูงของราชวงศ์อังกฤษได้ออกมาร่วมงานคอนเสิร์ตซึ่งจัดขึ้นวานนี้ (4 มิ.ย.) ที่บริเวณด้านหน้าของพระราชวังบักกิงแฮมในกรุงลอนดอน ท่ามกลางบรรยากาศคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ มีนักร้องเพลงป๊อปและเพลงร็อกชื่อดังของอังกฤษรวมทั้งศิลปินต่างชาติหลายคนมาร่วมแสดงบนเวที
การแสดงคอนเสิร์ตดังกล่าวถือว่าเป็นไฮไลท์ของพิธีเฉลิมฉลองครั้งนี้ โดยมีการจัดแสดงต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 3 แล้ว เวทีคอนเสิร์ตถูกออกแบบก่อสร้างให้คนดูสามารถมองเห็นได้แบบ 360 องศา มีนักร้องชื่อดังอย่างร็อด สจ๊วต, ไดอาน่า รอส, อันเดรอา โบเชลลี และอีกหลายคนรวมทั้งวงดนตรีระดับตำนานอย่างวงควีน ขึ้นแสดงเป็นเวลานาน 2 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อมอบความบันเทิงให้กับผู้ชมหลายหมื่นคนที่มาร่วมงานและอีกหลายล้านที่ชมการถ่ายทอดสดอยู่ที่บ้าน
ในช่วงที่การแสดงคอนเสิร์ตใกล้เสร็จสิ้นลง เจ้าฟ้าชายชาร์ลส มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษ ทรงขึ้นเวทีเพื่อกล่าวคำสดุดีไปยังสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 โดยกล่าวว่าพระองค์ทรงอยู่เคียงข้างชาวอังกฤษตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ทรงพูดคุย หัวเราะ และร้องไห้ ร่วมกับพวกเราทุกคน พระองค์ทรงงานหนักมาตลอดชีวิต และยังคงทรงงานหนักต่อไป ชาวอังกฤษทุกคนจึงรู้สึกยินดีที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ 70 ปี
ปัจจุบัน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระชนมายุ 96 พรรษา แม้พระองค์จะไม่ได้มาร่วมชมคอนเสิร์ตครั้งนี้ด้วยพระองค์เองเนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ แต่ทรงทอดพระเนตรการแสดงคอนเสิร์ตดังกล่าวผ่านการถ่ายทอดสดจากพระราชวังวินเซอร์
ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองการครองราชย์ 70 ปีขององค์พระประมุขในครั้งนี้ ประชาชนหลายล้านคนในสหราชอาณาจักร มีวันหยุดยาว 4 วัน เริ่มตั้งแต่ 2-5 มิถุนายน โดยวันหยุดยาวดังกล่าวเป็นวันหยุดธนาคารด้วย ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีพิธีสำคัญ ๆ หลายพิธีที่น่าจับตามอง หนึ่งในไฮไลท์คือการเสด็จออกสีหบัญชร พระราชวังบักกิงแฮม เพื่อทอดพระเนตรการสวนสนามของการแสดงบินของเครื่องบินจากกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ (Trooping the Colour ceremony)
โดยปกติแล้ว บุคคลที่ได้ออกสีหบัญชรร่วมกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถ คือบุคคลที่ทรงงานแบ่งเบาราชภารกิจและองค์รัชทายาท อย่างไรก็ตามในปีนี้ สมาชิกราชวงศ์ที่ไม่ได้เข้าร่วมพระราชพิธีเสด็จออกสีหบัญชร คือ เจ้าชายแอนดรูว์ พระโอรสองค์ที่ 2 และเจ้าชายแฮร์รีกับพระชายาเมแกน ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ โดยในกรณีของเจ้าชายแอนดรูว์ เป็นผลมาจากเรื่องอื้อฉาวซื้อบริการทางเพศผู้เยาว์ และต้องยอมจ่ายค่าชดเชยเพื่อปิดคดีจากการถูกฟ้องร้องทางแพ่ง ส่วนดยุกกับดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์เป็นผลจากการถอยออกจากการเป็นสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง เพื่อไปหาอิสระทางการเงินที่สหรัฐอเมริกา และเป็นที่มาของคำว่า "Megxit"
ส่วนองค์รัชทายาทที่ได้ร่วมพระราชพิธีสำคัญนี้ ได้แก่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส มกุฎราชกุมาร รัชทายาทลำดับที่ 1, เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ รัชทายาทลำดับที่ 2 และเจ้าชายจอร์จ พระโอรสองค์โตในเจ้าชายวิลเลียม รัชทายาทลำดับที่ 3 ซึ่งนางพอลีน แม็คลาแรน ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ศึกษาระบอบราชาธิปไตยสมัยใหม่ (Centre for the Study of Modern Monarchy) ของ Royal Holloway, University of London ให้ความเห็นว่า การปรากฏพระองค์ของ “ผู้สืบทอดราชบัลลังก์” นั้น ยิ่งกว่า "สัญลักษณ์" ที่แสดงถึงความ "ยืนยง" ของสถาบันกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร แม้โฉมหน้าจะเปลี่ยนไป
นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ในปีค.ศ.1952 สมเด็จพระราชินีนาถทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศรวมกว่า 260 ครั้ง รวมถึงการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ 2 ครั้ง ในปี ค.ศ.1972 และ ค.ศ.1996 ซึ่งนับตั้งแต่ทรงพระราชสมภพจนถึงวันนี้ ที่ทรงพระชนมายุ 96 พรรษานั้น เป็นช่วงเวลาที่พลิกผันจากเจ้าหญิงน้อยที่ทรงใช้ชีวิตช่วงสิบปีแรกอย่างอิสรเสรี ใช้เวลาส่วนใหญ่เล่นกับสุนัขและม้า ก่อนที่โชคชะตาจะลิขิตให้ต้องขึ้นครองราชย์ เป็นองค์ประมุขของ 15 ประเทศ จาก 53 รัฐสมาชิกในเครือจักรภพจวบจนทุกวันนี้