สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานว่า หากพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ในตอนนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างเชื่อว่าโอกาสเกิด ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ใน สหรัฐอเมริกา จะยังมาไม่ถึงในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายในระดับสูงแม้จะเกิด ภาวะเงินเฟ้อ ขึ้นก็ตาม ขณะที่ภาคธุรกิจก็ยังลงทุนซื้ออุปกรณ์และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และอัตราการจ้างงานก็ยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ดี
รูบีลา ฟารูกี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน High Frequency Economics ให้ความเห็นว่า " ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ต่างบ่งชี้ว่า ยังไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยเร็ว ๆ นี้" แต่นักวิเคราะห์ผู้นี้ก็เตือนว่า เศรษฐกิจอเมริกาอาจเผชิญกับ “ลมปะทะ” อย่างไม่ทันตั้งตัวได้
ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยบ่งชี้ว่าความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังเพิ่มขึ้น คือ อัตราเงินเฟ้อที่ต่อเนื่องและคงทนกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์และธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด คาดการณ์ไว้ โดยเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 8.6% ซึ่งมากที่สุดในรอบ 41 ปี สืบเนื่องจากสงครามในยูเครนที่ทำให้ราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้นมาก รวมทั้งมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโควิดในจีนที่ทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานรุนแรงขึ้น
จับตาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่าจะทำ “ทุกวิถีทาง” เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้ได้ รวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงมาก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็มีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า
วันพุธที่ 15 มิ.ย. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ) เฟดจะประกาศการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) นักวิเคราะห์คาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% ซึ่งจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในระดับ “สูงสุด” ในรอบ 28 ปี และอาจมีผลให้ธนาคารกลางจำกัดการปล่อยเงินกู้ยิ่งขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเศรษฐกิจถดถอยเช่นกัน
ตัวอย่างสถานการณ์ อันเป็นผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ได้แก่
ทั้งนี้ หากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างสถานการณ์ที่กล่าวมาอาจเลวร้ายหรือรุนแรงขึ้นกว่าเดิม และทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
สัญญาณที่ชัดเจนบ่งชี้เศรษฐกิจถดถอย
สัญญาณที่สามารถบ่งชี้ได้ว่ากำลังจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือ บริษัทต่าง ๆ ปลดพนักงานอย่างต่อเนื่อง และอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นมาก ซึ่งโดยปกติแล้ว หากอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.3% ติดต่อกันสามเดือน หมายความว่าจะมีภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังจับตามองการเปลี่ยนแปลงในดอกเบี้ยพันธบัตร ว่าจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า inverted yield curve หรือไม่ นั่นคือสถานการณ์ที่อัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะปกติแล้วพันธบัตรระยะยาว เช่น พันธบัตร 10 ปี จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตร 3 เดือน หรือ 2 ปี เป็นต้น นั่นหมายความว่า นักลงทุนอาจมองเห็นความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารดอยช์แบงก์เชื่อว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงระดับอย่างน้อย 3.6% ภายในช่วงกลางปีหน้า (2566) ซึ่งเป็นระดับที่อาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในก่อนสิ้นปีหน้าได้
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่า ถึงแม้สหรัฐจะเสี่ยงเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในอนาคตดังกล่าวมาแล้วข้างต้น แต่หากเกิดขึ้นจริงก็จะไม่รุนแรง เนื่องจากครอบครัวอเมริกันทุกวันนี้มีสถานะการเงินที่ดีกว่าเมื่อปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ.2551) ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ อีกทั้งตลาดแรงงานในปัจจุบันก็อยู่ในภาวะที่แข็งแรงกว่าในยุคนั้นด้วยเช่นกัน
ที่มา: วีโอเอ/เอพี