"บลิงเคน" รมว.ต่างประเทศสหรัฐถึงไทยแล้ว หารือนายกฯ ถกความร่วมมือวันนี้

10 ก.ค. 2565 | 02:28 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2565 | 09:40 น.

"แอนโทนี บลิงเคน" รมว.ต่างประเทศสหรัฐ เดินทางจากอินโดนีเซียถึงไทยแล้วค่ำวานนี้ (9 ก.ค.) โดยเขามีกำหนดหารือทวิภาคีกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ และเข้าเยี่ยมคารวะพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีวันนี้ (10 ก.ค.)

เพจเฟซบุ๊กสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยแพร่ภาพ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และคณะเดินทางถึงไทยแล้วค่ำวานนี้ (9 ก.ค.) โดยนายเน็ด ไพรซ์โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ โพสต์ข้อความว่า "เราเดินทางถึงไทยแล้ว รัฐมนตรีบลิงเคนจะกระชับความร่วมมือกับผู้นำรัฐบาลไทย ผู้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนสหรัฐ-ไทย สมาชิกภาคประชาสังคม ชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในไทย ตลอดจนภาคีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญอื่น ๆ"

 

ทั้งนี้ นายบลิงเคน เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 9-10 กรกฎาคม 2565 หลังจากที่เคยมีกำหนดการเดิมจะเยือนไทยในเดือนธันวาคม 2564 แต่ครั้งนั้นเขาต้องยกเลิกแผนการกระทันหันเนื่องจากผู้สื่อข่าวร่วมคณะเดินทางคนหนึ่งตรวจพบเชื้อโควิด-19 ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางกลับสหรัฐในทันที

นายบลิงเคนและคณะถึงไทยแล้วค่ำวันเสาร์ (9 ก.ค.) ภาพจากเพจเฟซบุ๊กสถานทูตสหรัฐฯ

กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า การเยือนของนายบลิงเคนครั้งนี้ ถือเป็นการเดินทางเยือนไทยครั้งแรกของเขานับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ถือเป็นโอกาสเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสหรัฐ รวมทั้งกระชับความร่วมมือในประเด็นสำคัญต่าง ๆ บนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค

 

ทั้งนี้ นายบลิงเคนมีกำหนดการเข้าพบนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อหารือทวิภาคี ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ จะเข้าเยี่ยมคารวะพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย

แอนโทนี บลิงเคน เยือนไทยครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง

นอกจากนี้ นายบลิงเคน มีกำหนดจะเดินทางเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจะเป็นการเน้นย้ำความสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนไทย-สหรัฐในด้านสาธารณสุขและด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์  อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยในการแถลงข่าวบรรยายสรุปเรื่องการเยือนไทยของนายบลิงเคนครั้งนี้ว่า หลังพบปะหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อหารือทวิภาคีแล้ว นายบลิงเคนจะเข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากนั้นจะเยี่ยมสถานคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งทั้งไทยและสหรัฐให้ความสำคัญกับการค้ามนุษย์เหมือนกัน อีกทั้งยังร่วมมือปราบปรามการค้ามนุษย์ใกล้ชิดมาโดยตลอด และ "นี่จะเป็นสัญญาณหนึ่งที่จะมีข่าวดีร่วมกันเร็วๆนี้" ซึ่งอาจจะรวมถึงการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่จัดอันดับโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ (Trafficking in PersonsReport : TIP report)

 

นายเชษฐพันธ์ กล่าวว่า การเยือนของบลิงเคนครั้งนี้ ถือเป็นโอากาสที่ดีที่นายดอนและนายบลิงเคน จะหารือถึงความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐ โดย รัฐมนตรีทั้งสองจะมีการลงนามเอกสาร 2 ฉบับ คือ

 

  1. แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (Thailand - Us communique on strategy alliance and partnership) ซึ่งเป็นฉบับที่สอง สะท้อนความสัมพันธ์ ของทั้งสองประเทศที่จะครบรอบ 190 ปีในปีหน้า (2566)
  2. บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมห่วงโซ่อันทรงคุณค่าไทยและสหรัฐอเมริกา (MOU on supply chain) ในด้านการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในภาคธุรกิจสำคัญของ 2 ประเทศ รวมทั้งการเกษตร พลังงานและการค้า จะทำให้ไทยเป็น “ข้อต่อหนึ่งที่สำคัญ” ในการเป็นห่วงโซ่ทรงคุณค่าให้กับกระบวนการผลิตของสหรัฐ และยังจะเป็นโอกาสทางธุรกิจของไทย ในด้านการส่งออก นำเข้าและการลงทุนด้วย

 

นอกจากนี้ ตาม ถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ประเด็นสำคัญที่นายบลิงเคนจะหยิบยกขึ้นมาหารือกับนายกรัฐมนตรีของไทย คือเรื่องการประชุมเอเปคในช่วงปลายปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และปีหน้าที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งการขยายความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการต่อสู้ภาวะโลกร้อน ตลอดจนการแก้ปัญหาความไม่สงบในเมียนมา

 

“ความเป็นพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐนั้น ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อสนับสนุนเสรีภาพและความเปิดกว้าง การเชื่อมโยงกัน ความเจริญรุ่งเรือง ความมั่นคงปลอดภัยและการฟื้นตัวของภูมิภาคนี้”