สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานวันนี้ (30 ส.ค.) ว่า รัฐบาลสิงคโปร์ กำลังปรับปรุงกฎเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับ การออกวีซ่า เพื่อดึงดูด แรงงานต่างชาติ และลด การขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างแรงกดดันให้กับค่าแรงและเงินเฟ้อ
กระทรวงแรงงานสิงคโปร์เปิดเผยว่า กฎใหม่นี้จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่มีรายได้อย่างน้อย 30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (21,431 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน สามารถขอใบอนุญาตทำงาน 5 ปีได้ พร้อมข้อกำหนดให้สมาชิกในครอบครัวสามารถหางานทำได้ด้วย
ทั้งนี้ ยกเว้นผู้สมัครงานด้านกีฬา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และวิชาการที่มีรายได้ไม่ตรงตามเกณฑ์ข้างต้น จะสามารถยื่นขอ วีซ่าระยะยาวประเภทเครือข่ายและความเชี่ยวชาญต่างประเทศ (Overseas Networks and Expertise - ONE) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2566
นายตัน ซือ เหล็ง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานสิงคโปร์กล่าวว่า ทั้งธุรกิจและผู้มีความสามารถต่างแสวงหาสถานที่ที่ปลอดภัยและมั่นคงที่จะลงทุน อยู่อาศัย และทำงาน ซึ่งสิงคโปร์ก็เป็นสถานที่แบบนั้น นี่จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้เพื่อเสริม จุดยืนที่แข็งแกร่งของสิงคโปร์ในฐานะ "ศูนย์กลางของผู้มีความสามารถระดับโลก"
การประกาศดังกล่าวถือเป็นการตัดสินใจล่าสุดในปีนี้ของรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อแก้ไขปัญหาตลาดแรงงานที่ยังคงตึงตัวอยู่ รวมถึงเพื่อดึงดูดธุรกิจต่างประเทศเพื่อผลักดันสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางการเงินโลก หลังจากขาดแคลนแรงงานทักษะสูงจากต่างชาติในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด
อำนวยความสะดวกเข้าประเทศได้ง่ายขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเร็วๆนี้ (24 ส.ค.) รัฐบาลสิงคโปร์ยังไฟเขียวมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวต่างชาติหรือผู้เดินทาง สามารถเข้าประเทศสิงคโปร์ได้ง่ายขึ้น โดยผู้เดินทางที่ยังไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ก็สามารถเข้าประเทศสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องกักตัว ขอเพียงแค่มีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบภายในเวลา 2 วันก่อนการเดินทาง มาตรการดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 29 สิงหาคมนี้ เป็นต้นไป
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ยังได้ยกเลิกข้อกำหนดการสวมหน้ากากอนามัยในอาคารตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมาเช่นกัน ยกเว้นเมื่อใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และพื้นที่เสี่ยงสูง เช่น สถานพยาบาล ซึ่งยังต้องสวมหน้ากากอนามัยอยู่
ข่าวระบุว่า นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีที่รัฐบาลสิงคโปร์อนุญาตให้ประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในอาคาร มาตรการผ่อนคลายเหล่านี้มีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสิงคโปร์พิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มบรรเทาลง และถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ชีวิตร่วมกับโควิด