สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ธนาคารทุกแห่งใน เลบานอน ได้ปิดทำการอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากเกิดความวิตกว่าจะไม่ปลอดภัย หลังจากลูกค้าซึ่งก็คือประชาชนที่โกรธแค้นได้บุกเข้า ปล้นธนาคาร หลายแห่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเอาเงินฝากของตัวเองคืนหลังจากที่ถูกธนาคารอายัดไว้ยาวนานหลายปี
สมาคมธนาคารเลบานอน ประกาศวานนี้ (22ก.ย.) ว่า ธนาคารทุกแห่งจะยังปิดทำการต่อไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากไม่ได้รับความมั่นใจจากทางการในการรักษาความปลอดภัย อีกทั้งยังคงมีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยสำหรับพนักงานและลูกค้า และบรรยากาศของการปลุกระดมก็ยังคงมีอยู่
รายงานข่าวระบุว่า ธนาคารหลายแห่งได้ปิดประตูไม่ต้อนรับลูกค้า หลังจากเกิดเหตุการณ์ประชาชนที่โกรธแค้นบุกปล้นธนาคาร 7 แห่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในขณะที่วิกฤตการเงินที่ยืดเยื้อนาน 3 ปีของประเทศเลบานอน ก็เลวร้ายมากขึ้น ส่งผลกดดันทำให้ชีวิตชาวเลบานอนกินอยู่ยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก
ต้นสายปลายเหตุของปัญหาประชาชนบุกปล้นธนาคารนั้น เกิดจากภาคธนาคารของเลบานอนได้ "อายัดเงินฝาก" มานานกว่า 2 ปี และจำกัดจำนวนเงินที่ประชาชนสามารถถอนเงินฝากได้แต่ละครั้ง ในขณะที่ประชากรราว 3 ใน 4 อยู่ในภาวะยากจน ชาวเลบานอนส่วนใหญ่กล่าวโทษภาคธนาคารและธนาคารกลางสำหรับวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้
ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ชายคนหนึ่งกลายเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง หลังจากเขาปล้นธนาคารเฟเดอรัล แบงก์ และชิงเงินฝากของตัวเอง 35,000 ดอลลาร์ไปได้ โดยไม่ได้ถูกตั้งข้อหาทางอาญาใด ๆ หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ลอกเลียนแบบตามมา
ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีลูกค้าที่โกรธแค้นบุกธนาคารต่าง ๆ รวม 7 แห่ง โดยใช้ปืนพก ปืนปลอม หรือ ปืนลูกปราย ขู่บังคับให้พนักงานคืน "เงินฝาก" ให้พวกเขา บางคนก็ทำสำเร็จ เอาเงินฝากไปให้ครอบครัวได้แต่ถูกจับกุม หรือ ซ่อนตัวอยู่ ขณะที่บางคนปล้นไม่สำเร็จ นอกจากจะไม่ได้เงินแล้ว ยังถูกจับกุมเข้าคุกอีกด้วย
โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมาเพียงวันเดียวมีการปล้นธนาคารถึง 5 แห่ง หลังจากนั้นธนาคารประกาศได้ปิด 3 วัน ระหว่าง 19-21 ก.ย. 2565 และยังเกิดเหตุหญิงคนหนึ่งใช้ปืนเด็กเล่นปล้นธนาคารเมื่อวันพุธ (21 ก.ย.) เพื่อเอาเงินฝากไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลสมาชิกในครอบครัว ล่าสุด ธนาคารทุกแห่งจึงปิดทำการทั้งหมดอย่างไม่มีกำหนด
รายงานข่าวระบุว่า นอกจากวิกฤตการเงิน-การธนาคารแล้ว การเมืองของเลบานอนก็ยุ่งเหยิงไม่แพ้กัน โดยพรรคการเมืองเลบานอนนั้น ยังมีความแตกแยกจนไม่สามารถตกลงจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งที่การเลือกตั้งผ่านพ้นมานาน 4 เดือนแล้ว และทางการก็กำลังพยายามเจรจาขอเงินกู้ 3,000 ล้านดอลลาร์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แต่มีความคืบหน้าน้อยมาก และ IMF ประเมินว่า เลบานอนยังมีการปฏิรูปไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่จะได้รับความช่วยเหลือ
ข้อมูลอ้างอิง